แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 2 นั้น แม้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
เมทแอมเฟตามีน และ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้จะเป็นยาเสพติดให้โทษคนละชนิดกันแต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เหมือนกันและเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นยาเสพติดให้โทษทั้งสองชนิดในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนและ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. กับข้อ ข. ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็น 2 กรรมนั้น จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 57, 66, 76, 91, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อย.542/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 26 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 76 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตาแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานมี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน รวม 4 กระทง จำคุกคนละ 8 ปี 7 เดือน และปรับคนละ 400,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อย.1458/2550 ของศาลชั้นต้นและยกคำขอเพิ่มโทษจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้นับโทษต่อและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนและ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางสาวสุนิสามีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 ซอง น้ำหนักสุทธิ 0.428 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.401 กรัม กับ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 0.933 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.168 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมีกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ซอง น้ำหนักสุทธิ 2.686 กรัม ไว้ในครอบครอง อันเป็นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์ปราศจากสาระสำคัญที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้เป็นลำดับขั้นตอนอย่างมีเหตุและผล ไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอแก่การรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเชื่อได้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางสาวสุนิสา มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 ซอง น้ำหนักสุทธิ 0.428 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.401 กรัม กับ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 0.933 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.168 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมีกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ซอง น้ำหนักสุทธิ 2.686 กรัม ไว้ในครอบครอง คดีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันมี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยพิพากษายกฟ้องในความผิดทั้งสามฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 2 นั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่งเมทแอมเฟตามีน และ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้จะเป็นยาเสพติดให้โทษคนละชนิดกันแต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เหมือนกันและเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นยาเสพติดให้โทษทั้งสองชนิดในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันไปแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนและ3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. กับข้อ ข. ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็น 2 กรรมนั้น จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน และ3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงกระทงเดียว จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อรวมกับความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง และเสพเมทแอมเฟตามีนแล้ว คงจำคุก 4 ปี 7 เดือน และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์