คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8805/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องนำเงินไปชำระทันที โจทก์เป็นผู้ชำระแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลังหรือสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิกเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์ จึงมีอายุความ2 ปี โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 8พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 นั้นเป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1)เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 28,753.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 17,343 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,753.89 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 17,343บาท นับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตประเภท บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพของโจทก์ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องมาจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือเบิกเงินสดล่วงหน้าโดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง โจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินไปแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระให้แก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องนำเงินไปชำระในทันทีโจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง และสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของธนาคารโจทก์โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก ทั้งนี้โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ปรากฏว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนดถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2542 นั้น เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้วจึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นหาชอบไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share