คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลักลอบปรับคลื่นโทรคมนาคมของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบุคคลอื่นจำนวน 6 เครื่อง อันเป็นการจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนและขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมและนำออกให้ประชาชนเช่าบริการสาธารณะ อันเป็นการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จำเลยจะกระทำในวันเวลาเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่สามารถแยกจากกันเป็นราย ๆ ไปได้ตามจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยลักลอบปรับคลื่นและนำออกให้ประชาชนเช่าบริการสาธารณะ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดแยกเป็นราย ๆ ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 6 กระทง
ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 6 ระวางโทษตามมาตรา 23 และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดตามมาตรา 23 อีกกระทงหนึ่ง
โจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 26 ด้วย ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 23 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 แต่ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔, ๖, ๒๒, ๒๓, ๒๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จำนวน ๖ เครื่อง ขอให้ริบไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง, ๒๒, ๒๓, ๒๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑), ๙๑ ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก ๑ ปี ปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท… จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมคงจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๕,๐๐๐ บาท ฐานกระทำให้เกิดการรบกวนต่อวิทยุคมนาคม จำคุกกระทงละ ๖ เดือน ปรับกระทงละ ๒๕,๐๐๐ บาท จำเลยอายุยังน้อยและกำลังศึกษา สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ โดยให้กักขังเป็นเวลา ๒ ปี ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจำนวน ๖ เครื่อง ให้ริบเพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖, ๒๒, ๒๓, ๒๖ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ และ ๒๖ ระวางโทษเท่ากันให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำคุก ๑ ปี ปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า แม้ว่าการที่จำเลยลักลอบปรับคลื่นวิทยุคมนาคมและนำออกให้ประชาชนเช่าบริการสาธารณะดังกล่าวจะกระทำในวันเวลาเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่สามารถแยกจากกันเป็นราย ๆ ไปได้ตามจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยลักลอบปรับคลื่นและนำออกให้ประชาชนเช่าบริการสาธารณะ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดแยกเป็นราย ๆ ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม ๖ กระทง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นและศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา ๖ ระวางโทษตาม ๒๓ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน การที่จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๓ อีกกระทงด้วย แต่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา ๒๖ ด้วย ศาลฎีกาจึง ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๓ อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยโจทก์มิได้ฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕ แต่ปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา ๑๙๕ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำผิด ๗ กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐาน จงใจกระทำให้เกิดการรบกวนและขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม รวม ๖ กระทง ความผิดทั้งหกกระทงนี้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share