แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปก่อนมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา แต่โจทก์อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นพยานโดยมีพนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำผู้เสียหายมาเบิกความประกอบและรับรองเอกสารดังกล่าว ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง และไปให้การทันทีหลังจากไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลแล้ว จึงไม่มีเวลาและโอกาสคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อกลั่นแกล้งให้การปรักปรำจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมีเหตุอื่นใดที่จะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำต้องให้การเช่นนั้นเชื่อว่าผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนตามความเป็นจริง เมื่อพนักงานสอบสวนให้ชี้ตัวคนร้ายในคืนเกิดเหตุ ผู้เสียหายก็สามารถชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้อง ทั้งยืนยันว่าสร้อยคอพร้อมพระเครื่องและธนบัตรเป็นของตนโดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์นอกจากนี้โจทก์ยังมี ธ. และสิบตำรวจโท ป. ซึ่งพบเห็นเหตุการณ์และช่วยกระชากตัวจำเลยและพวกออกจากการทำร้ายผู้เสียหาย คำเบิกความของพยานทั้งสองสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันมีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย
ที่จำเลยฎีกาว่ามิได้เป็นจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันโดยสำคัญผิดนั้น จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นโต้แย้งในศาลชั้นต้น เพิ่งมาโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 58, 83 และ 93 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1ในคดีหมายเลขแดงที่ 3396/2540 ของศาลชั้นต้นและเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 12 ปี นับโทษจำเลยที่ 1ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 3396/2540 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายจันทร์ พลหลัก ผู้เสียหาย ถูกคนร้าย 2 คน ร่วมกันชิงเอาสร้อยคอสแตนเลสพร้อมพระเครื่องกรอบสแตนเลสจำนวน 4 องค์ ราคา2,000 บาท ธนบัตรรัฐบาลไทยจำนวน 120 บาท ไป และเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 กับนายจตุพงษ์ ทวีพงษ์ ได้ในคืนเกิดเหตุขณะกำลังชกต่อยผู้เสียหาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายจตุพงษ์ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โจทก์ไม่มีนายจันทร์ พลหลัก ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณาเพราะผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปก่อน แต่โจทก์อ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐาน โดยมีพันตำรวจโทสมบัติ แก่นวิจิตรพนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำผู้เสียหายมาเบิกความประกอบและรับรองเอกสารดังกล่าวว่าพยานได้สอบปากคำผู้เสียหายหลังเกิดเหตุประมาณ2 ชั่วโมง กับให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ ทวีพงษ์ ในคืนนั้นเองตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายและบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาพร้อมภาพถ่ายซึ่งในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การว่า ขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่ที่หน้าร้านทำขนมเปี๊ยะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลุกให้ลุกขึ้น แล้วช่วยกันจับแขนผู้เสียหายคนละข้างพยุงพาไปที่ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายจตุพงษ์ซึ่งเดินตามไปในภายหลังได้ร่วมกันใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหาย นายจตุพงษ์กระชากเอาสร้อยคอสแตนเลสพร้อมพระเครื่อง 4 องค์ ที่ผู้เสียหายสวมอยู่ ส่วนจำเลยที่ 1ล้วงเอาเงินจำนวน 120 บาท จากกระเป๋าใส่สตางค์ที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าของผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายจตุพงษ์ใช้กำลังต่อยผู้เสียหายต่ออีก ขณะนั้นมีเจ้าพนักงานตำรวจทราบชื่อภายหลังว่า สิบตำรวจโทปรัชญา มณีศรีวงศ์กุล กับพวกเข้าช่วยผู้เสียหายไว้ทันและจับจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ไว้ได้ เห็นว่า ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง และไปให้การทันทีที่สถานีตำรวจหลังจากไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลแล้ว จึงไม่มีเวลาและโอกาสคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อกลั่นแกล้งให้การปรักปรำจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับบุคคลดังกล่าวมาก่อนหรือมีเหตุอื่นใดที่จะเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้เสียหายจำต้องให้การเช่นนั้น เชื่อว่าผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนตามความเป็นจริง ผู้เสียหายถูกพามาจากหน้าร้านทำขนมเปี๊ยะไปตามถนนเจริญกรุงแล้วเข้าไปในซอย ซึ่งมีแสงไฟฟ้าจากอาคารและริมถนนเป็นระยะทางที่ไกลพอสมควร ผู้เสียหายจึงเห็นหน้าผู้ที่พาไปเป็นเวลานานและมีโอกาสจดจำได้แม่นยำว่าคือจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ เมื่อพนักงานสอบสวนให้ชี้ตัวคนร้ายในคืนเกิดเหตุ ผู้เสียหายก็สามารถชี้ตัวว่าจำเลยที่ 1และนายจตุพงษ์ เป็นคนร้ายได้ถูกต้อง ทั้งยืนยันว่าสร้อยคอสแตนเลสพร้อมพระเครื่อง 4 องค์ และธนบัตร 2 ฉบับ เป็นเงินจำนวน 120 บาท เป็นของตนและพนักงานสอบสวนได้คืนให้ผู้เสียหายแล้ว โดยจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ไม่ได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ตามบัญชีของกลางคดีอาญา นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิบตำรวจโทปรัชญา มณีศรีวงศ์กุล และนายธนวัฒน์ แซ่โง้ว มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกว่า ขณะที่สิบตำรวจปรัชญาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่จุดรับแจ้งเหตุสามแยกหมอมิได้รับแจ้งว่ามีการชกต่อยกันที่ปากซอยตรงกับถนนเจริญกรุง แขวงและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ห่างไปประมาณ50 เมตร จึงวิ่งไปดูโดยมีนายธนวัฒน์วิ่งตามไปถึงที่เกิดเหตุลึกเข้าไปในซอยดังกล่าวประมาณ 30 ถึง 40 เมตร เห็นจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์กำลังร่วมกันใช้กำลังทำร้ายชกต่อยผู้เสียหาย สิบตำรวจโทปรัชญา จึงกระชากตัวจำเลยที่ 1 และนายธนวัฒน์ กระชากตัวนายจตุพงษ์ออกจากการทำร้ายผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกสิบตำรวจโทปรัชญาในขณะนั้นว่าจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์เอาสร้อยคอและพระเครื่องของผู้เสียหายไป และสิบตำรวจโทปรัชญาค้นพบสร้อยคอสแตนเลสพร้อมพระเครื่อง 4 องค์ อยู่ในกระเป๋ากางเกงของนายจตุพงษ์กับพบธนบัตรเป็นเงินจำนวน 120 บาท อยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่ 1 ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของสิบตำรวจโทปรัชญาได้เกิดขึ้นในทันทีหลังได้รับแจ้งเหตุ และนายธนวัฒน์ได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในฐานะพลเมืองดี และต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์มาก่อน คำเบิกความของสิบตำรวจโทปรัชญาและนายธนวัฒน์สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย และเมื่อฟังพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวประกอบกันแล้วทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้ออันควรสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และนายจตุพงษ์ร่วมกันมาแต่ต้นเพื่อชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เข้าช่วยพยุงผู้เสียหายไปนอนที่ม้านั่งยาวเพราะจำเลยที่ 2 ขอร้องให้ช่วยและเมื่อจำเลยที่ 2 ลากผู้เสียหายลึกเข้าไปในซอยและจำเลยที่ 1 ซึ่งยืนรออยู่นานได้เดินตามเข้าไปเห็นจำเลยที่ 2ทำร้ายผู้เสียหายแล้ววิ่งหนีไป จำเลยที่ 1 จึงเข้าพยุงผู้เสียหายให้นั่ง แต่ผู้เสียหายเข้าใจผิดว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายนั้น เห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2จริงดังที่อ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ช่วยพยุงผู้เสียหายแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1จะต้องยืนรอจำเลยที่ 2 หลังจากที่จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้เสียหายกับเอากระเป๋าเงินของผู้เสียหายไปและลากผู้เสียหายลึกเข้าไปในซอย และไม่มีเหตุที่จะต้องตามจำเลยที่ 2 เข้าไปในซอยอีกและที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ผู้เสียหายเมาจนขาดสตินั้นข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของสิบตำรวจโทปรัชญาเพียงว่า มีกลิ่นสุราที่ผู้เสียหายเท่านั้น แต่สิบตำรวจโทปรัชญายืนยันว่าผู้เสียหายไม่เมาสุราและยังพูดจารู้เรื่อง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนโดยขาดสติสัมปชัญญะดังที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกา ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ล้วนขาดเหตุผลและไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3396/2540 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีนั้นโดยสำคัญผิด จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นโต้แย้งในศาลชั้นต้น เพิ่งมาโต้แย้งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน