คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567-1572/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์ทั้งหกฉบับที่ยื่นในระหว่างศาลแรงงานพิจารณาคดี ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานจะต้องใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความหรือเป็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในตอนพิพากษาคดีทั้งสิ้น การที่ศาลแรงงานสั่งในคำร้องทั้งหกฉบับของโจทก์เป็นคำสั่งก่อนที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 จำเลยทั้งสองมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความเคารพต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ให้ความร่วมมือและประสานงานกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่ติดต่อด้วย จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างตามฟ้องส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 มิใช่นายจ้างโดยตรงที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเป็นจำนวนมาก สำหรับคำร้องซึ่งเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในคดีนี้มีจำนวน 6 ฉบับฉบับแรกลงวันที่ 20 ตุลาคม 2542 (สารบาญสำนวนตอนที่ 2อันดับที่ 16) ความว่า จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับสิทธิได้รับทุนอุดหนุนการแต่งตำราจากทบวงมหาวิทยาลัย ศาลแรงงานกลางต้องสั่งว่าโจทก์ไม่ต้องสืบพยานเพราะถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์แล้วศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ในวันเดียวกันว่า”สำเนาให้อีกฝ่าย รวม” ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2542ความว่า จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมตัดทอนแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารเพื่อหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2), 94(ข) และ 95 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ขอให้ไม่รับฟังพยานบุคคลของจำเลย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ในวันเดียวกันว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย รวม” ฉบับที่ 3ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2542 ความว่า การที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้โจทก์ซักค้านพยานจำเลยที่เบิกความในประเด็นหนังสือร้องเรียนว่าโจทก์ปลอมแปลงแก้ไขลายมือชื่อโจทก์ที่แก้ระดับผลการสอบให้แก่นักศึกษาทำให้โจทก์เสียเปรียบทางคดี เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ในวันเดียวกันว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย รวม” ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 26ตุลาคม 2542 ความว่า จำเลยทั้งสองลงชื่อรับสภาพหนี้เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าสมนาคุณ การแต่งตำราเป็นเงิน 456,000บาท จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้และศาลแรงงานกลางได้สอบถามคู่ความแล้ว จำเลยทั้งสองปฏิเสธข้อเท็จจริงโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ศาลแรงงานกลางต้องสั่งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์เพราะถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 100 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ในวันเดียวกันว่า “ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้างในคำร้อง จึงไม่อาจมีคำสั่งให้ตามคำร้องของโจทก์ ให้ยกคำร้อง” ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน2542 (สารบาญสำนวนตอนที่ 2 อันดับ 33) ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องและคำคัดค้านต่อศาลแรงงานกลางหลายฉบับศาลแรงงานกลางยังมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ไม่ครบถ้วนและการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์บางฉบับเพียงว่า “รวม” เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน2542 ว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย รวม” และฉบับสุดท้าย ลงวันที่ 23พฤศจิกายน 2542 ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า “สำเนาให้อีกฝ่ายสั่งในคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 แล้ว”โดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามคำร้องดังกล่าวว่า “รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษา”

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งทั้งหกฉบับต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ข้อที่โจทก์อุทธรณ์มาทั้งหกฉบับนั้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจะต้องใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความหรือเป็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในตอนพิพากษาคดีทั้งสิ้นคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งในคำร้องทั้งหกฉบับของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีอันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องล้วนเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งทั้งหกนั้นก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกอุทธรณ์ทั้งหกฉบับของโจทก์

Share