คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากพระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 ออกใช้บังคับแล้ว จำเลยก็ยังยึดมั่นในความเห็นของตนตลอดมาว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จโดยคำนวณเวลาทำงานทวีคูณให้แก่พนักงานและคนงานของจำเลยทั้งยังได้โต้แย้งตลอดมา ดังนั้น การที่จำเลยเห็นว่าหากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทที่สั่งให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จโดยคำนวณเวลาทำงานทวีคูณให้แก่พนักงานและคนงานแล้วก็อาจเป็นสาเหตุให้กระทรวงอุตสาหกรรมเลิกสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันกับจำเลย ทำให้จำเลยต้องเสียหายเป็นเงินจำนวนมากนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยคาดคิดเอาเองเป็นส่วนตัวและไม่แน่นอน เมื่อจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จโดยรวมเวลาทำงานทวีคูณให้แก่โจทก์ไปแล้วกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จคืนจากโจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบหกเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานโรงงานสุราบางยี่ขัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ จำเลยกับสหภาพแรงงาน ฯ ได้ทำบันทึกข้อความตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างไว้ต่อกันว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี จำเลยจะจ่ายให้ในแต่ละปีเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายในปีนั้น ในปีใดทางราชการประกาศกฎอัยการศึกลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับเงินเดือน ๒ เดือนสุดท้ายของปีนั้น เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และมีผลบังคับตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีเท่ากับเงินเดือน ๒ เดือนสุดท้ายในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ในปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๗ จำเลยจ่ายบำเหน็จตัดตอนเท่ากับเงินเดือน ๑ เดือนสุดท้ายของปีนั้นเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนที่ขาดไปปีละ ๑ เดือน รวม ๒ ปีให้โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า พระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๐ เป็นต้นไปโดยมิให้นับเวลาราชการทวีคูณแก่ข้าราชการ จึงมีผลให้โจทก์และพนักงานของจำเลยทุกคนไม่อาจนับเวลาทำงานทวีคูณได้ไปด้วย เพราะสิทธิของโจทก์และพนักงานของจำเลยเกิดขึ้นจากคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ ๑๒๔/๒๕๐๑ ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยการนับเวลาทวีคูณของข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๒๔ วรรคสอง โดยมุ่งหมายที่จะให้พนักงานและคนงานของจำเลยมีฐานะใกล้เคียงกับข้าราชการ จึงไม่มีเหตุผลใดที่พนักงานและคนงานดังกล่าวมีสิทธิได้นับเวลาทำงานทวีคูณเกินไปกว่าที่ข้าราชการจะพึงได้รับ ในปี ๒๕๒๓ จำเลยได้โต้แย้งการคำนวณเงินบำเหน็จทวีคูณกรณีลูกจ้างเกษียณอายุต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทได้ชี้ขาดว่าให้พนักงานและคนงานนับเวลาทำงานทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฏอัยการศึกซึ่งจำเลยไม่เห็นด้วย แต่หากไม่ปฏิบัติตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าและเลิกสัญญากับจำเลยได้ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นเงินหลายพันล้านบาท จำเลยจึงจำต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวไปพลางก่อนและได้โต้แย้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาด ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาปัญหานี้ว่าไม่ให้พนักงานและคนงานนับเวลาทำงานเป็นทวีคูณมารวมคำนวณเงินบำเหน็จในระหว่างที่กฎหมายระงับการนับเวลาทวีคูณการที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนให้โจทก์ทุกคนในปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๗ ปีละ๑ เดือนของเงินเดือนเดือนสุดท้าย จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วและจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่โจทก์ทุกคนเท่ากับเงินเดือน ๒ เดือนสุดท้ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕ เป็นการจ่ายเกินไปคนละ ๑ เดือน โดยถูกบังคับตามคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โจทก์ทุกคนจึงต้องคืนเงินส่วนที่รับเกินไปแก่จำเลย จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทุกคนคืนเงินที่รับเกินไปในปี ๒๕๒๓ – ๒๕๒๕ ปีละ ๑ เดือน รวม ๓ ปี พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยและขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบหกให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทุกคนได้รับเงินบำเหน็จตัดตอนในปี ๒๕๒๓- ๒๕๒๕ ชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วพระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณ ฯ มีผลใช้บังคับแก่ข้าราชการเท่านั้นไม่มีผลถึงโจทก์ด้วย ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๔ ได้เปลี่ยนแปลงการรับบำเหน็จตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ ๑๒๔/๒๕๐๑ แล้ว และได้ทำขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แสดงว่าจำเลยมีเจตนาถือบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้เป็นหลัก ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องลาภมิควรได้และคดีขาดอายุความ ๑ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่อาจนับเวลาทำงานทวีคูณได้ส่วนจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนไปโดยทราบว่าไม่มีการนับระยะเวลาราชการทวีคูณแล้ว เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่มีสิทธิเรียกคืนและฟ้องแย้งขาดอายุความพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบหกและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวฟ้องแย้งของจำเลยว่าหลังจากที่พระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลาประกาศใช้กฏอัยการศึกตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๙ ออกใช้บังคับแล้ว จำเลยก็ยังยึดมั่นในความเห็นของตนตลอดมาว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จโดยคำนวณเวลาทำงานทวีคูณให้แก่พนักงานและคนงานของจำเลยทั้งยังมิได้โต้แย้งคัดค้านตลอดมา ดังนั้น การที่จำเลยเห็นว่า หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทแล้วก็อาจเป็นสาเหตุให้กระทรวงอุตสาหกรรมเลิกสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันกับจำเลย ซึ่งจะทำให้จำเลยต้องเสียหายเป็นเงินจำนวนมากนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยคาดคิดเอาเองเป็นส่วนตัวและไม่แน่นอน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑๒๔/๒๕๐๑ ได้มีข้อ ๓๔ กำหนดไว้ว่า พนักงานประจำที่ตายเพราะการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง หรือออกจากงานเพราะได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ด้วยเหตุนี้หากพนักงานและคนงานของจำเลยได้รับเงินบำเหน็จตัดตอนจากจำเลยไปแล้ว หากพนักงานหรือคนงานผู้นั้นตายหรือออกจากงานตามกรณีดังกล่าวก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเงินบำเหน็จที่ได้รับไปแล้วก็ต้องคืนให้จำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนไปเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาเช่นนี้ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเรียกคืนได้ เห็นว่า เหตุที่จำเลยจะเรียกเก็บเงินบำเหน็จคืนตามข้อ ๓๔ ของคำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุอื่นต่างหากจากเหตุคดีนี้ จะนำมาเป็นหลักให้วินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยมิได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ได้ความมากรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าจำเลยไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๗ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากโจทก์ทุกคนได้
พิพากษายืน.

Share