คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มารดาจำเลยที่ 1 เคยกู้ยืมเงินโจทก์ และมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน หลังจากมารดาจำเลยถึงแก่กรรมแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ยอมชำระหนี้แทนมารดาโดยจะโอนที่ดินให้โจทก์ทั้งแปลงต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอยืมโฉนดดังกล่าวจากโจทก์อ้างว่าจะนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดก และเจ้าพนักงานที่ดินได้ขอโฉนดดังกล่าวไว้เพื่อประกาศรับมรดกให้ครบ 60 วันเสียก่อน ซึ่งความจริงได้มีการประกาศเพื่อรับมรดกมาก่อนและครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าวและเจ้าพนักงานที่ดินก็คืนโฉนดให้ในวันนั้นเอง แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนของตนกับบุคคลอื่น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เอาโฉนดที่ดินมาเพื่อใช้รับมรดกอย่างเดียวตามที่บอกกล่าวไว้ในตอนขอรับเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ แต่โจทก์ก็มอบให้ด้วยความสมัครใจของตนเองเพราะประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 รับมรดกที่ดินนั้นแล้วโอนให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ หากจำเลยทั้งสองจะได้หลอกลวงโจทก์ในเรื่องเจ้าพนักงานที่ดินยึดโฉนดที่ดินไว้เพื่อประกาศรับมรดก 60 วันจริง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะไม่ส่งโฉนดที่ดินคืนโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงเพื่อเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341.
ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำการโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มารดาจำเลยที่ ๑ เคยกู้ยืมเงินโจทก์และได้มอบโฉนดที่ดินให้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ หลังจากมารดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ยอมชำระหนี้แทนมารดา โดยจะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ทั้งแปลง ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้หลอกลวงโจทก์ว่าจะขอยืมโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดก ซึ่งโจทก์ก็นำไปให้ วันนั้นเองจำเลยทั้งสองได้เข้าไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แล้วจำเลยที่ ๒ พูดหลอกลวงโจทก์ว่า เจ้าพนักงานที่ดินขอโฉนดไว้เพื่อประกาศรับมรดกและต้องยึดโฉนดไว้เพราะต้องรอประกาศเรื่องรับมรดกให้ครบ ๖๐ วันเสียก่อนซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยทั้งสองได้ขอประกาศรับมรดกมาก่อนและครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แล้วจำเลยที่ ๑ นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนของตนกับบุคคลอื่น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทำให้ทรัพย์สินที่เป็นประกันหนี้และต้องโอนชำระหนี้ให้โจทก์เสื่อมค่าลงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๙, ๓๕๐, ๘๓, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลจึงประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อแรกจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ หรือไม่นั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ได้เอาโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเพื่อใช้รับมรดกอย่างเดียวตามที่ได้บอกกล่าวไว้ในตอนขอรับเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ แต่โจทก์ก็มอบโฉนดที่ดิน ให้มาด้วยความสมัครใจของตนเองเพราะประสงค์จะให้จำเลยที่ ๑ รับมรดกที่ดินนั้น แล้วโอนให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้หากจำเลยทั้งสองจะได้หลอกลวงโจทก์ในเรื่องเจ้าพนักงานที่ดินยึดโฉนดที่ดินไว้เพื่อประกาศรับมรดก ๖๐ วันจริง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะไม่ส่งโฉนดที่ดินคืนโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงเพื่อเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม มาตรา ๓๔๑ ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา ๓๕๐ หรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา ๓๕๐ อยู่แล้วไม่มีทางจะลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share