คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411-2415/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเรียกประชุมพนักงานของบริษัท ชี้แจงให้ทราบว่าบริษัทประสบปัญหาทำให้การดำเนินกิจการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ ขอให้ที่ประชุมลงมติเลิกสัญญาจ้างพนักงาน เมื่อมติของที่ประชุมพนักงานบริษัทตกลงเลิกสัญญาจ้างจึงมีผลเท่ากับจำเลยเลิกสัญญาจ้างที่ทำไว้กับโจทก์ เป็นการให้ลูกจ้างออกจากงาน ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ และการเลิกจ้างกรณีเช่นนี้จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทำงานในวันหยุด
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่ได้เรียกประชุมพนักงานของจำเลยชี้แจงให้ทราบว่าบริษัทต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้การดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ ขอให้ที่ประชุมลงมติเลิกสัญญาจ้าง โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์เป็นเวลา ๓ เดือน ที่ประชุมรวมทั้งโจทก์ได้ตกลงลงมติเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาเรื่องการเลิกจ้างว่า มูลเหตุที่จะมีการเลิกสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ปรากฏตามคำให้การของจำเลยว่าสืบเนื่องมาจากจำเลยได้เรียกประชุมพนักงานของบริษัท ชี้แจงให้ทราบว่าบริษัทต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้การดำเนินกิจการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ ขอให้ที่ประชุมลงมติเลิกสัญญาจ้าง ฉะนั้นแม้โจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาจ้างกันตามมติที่ประชุมของพนักงานบริษัท ก็เท่ากับจำเลยเลิกสัญญาจ้างที่ได้ทำไว้กับโจทก์นั่นเอง ซึ่งมีผลให้นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสอง ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าได้กระทำความผิดตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างในกรณีเช่นนี้จำเลยจำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒
พิพากษายืน

Share