คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310-4311/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาททับขาโจทก์ที่ 3 แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตรวจแล้วมีความเห็นว่าต้องตัดขาทั้งสองข้างโจทก์ที่ 3 ไม่ยอมให้ตัด ได้ออกจากโรงพยาบาลไปรักษาหมอกระดูกทางไสยศาสตร์อยู่ประมาณ 1 เดือนไม่หาย จึงไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลยาสูบแพทย์ได้ตัดขาโจทก์ที่ 3 ทั้งสองข้างการที่โจทก์ที่ 3 ไม่ยอมตัดขาทั้งสองข้างแล้วไปรักษากับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องความเชื่อของโจทก์ที่ 3 ที่จะเลือกรักษาเช่นนั้นได้เมื่อรักษากับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ไม่หายจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลยาสูบโดยแพทย์ตัดขาทั้งสองข้าง ย่อมเป็นผลจากการทำละเมิดโดยตรงของจำเลยที่ 1 มิใช่เหตุแทรกซ้อนจำเลยต้องชดใช้ค่ารักษาที่โจทก์ที่ 3 ใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั้งสอง และค่าใช้จ่ายที่มารดาโจทก์ที่ 3 ไปดูแลโจทก์ที่ 3ขณะรักษาตัวอยู่ในที่ต่างๆและพาโจทก์ที่ 3 ไปยังสถานพยาบาลต่างๆและพากลับบ้านด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนรับนายวรวุธ กัลยาณธรรม เป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาของนายวรวุธจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 9 น-0290 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม2521 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ก – 6460 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายวรวุธเป็นผู้ขับขี่และโจทก์ที่ 3 นั่งซ้อนท้ายนายวรวุธ ถึงแก่ความตายทันที ส่วนโจทก์ที่ 3 ต้องถูกตัดขาทั้งสองข้าง โจทก์ที่ 1 เสียค่าพาหนะ ค่าทำศพ ค่าฝังศพ เป็นเงิน 27,060 บาท โจทก์ที่ 2 ขาดค่าอุปการะ เป็นเงิน 72,000 บาท โจทก์ที่ 3 ถูกตัดขาทั้งสองข้างต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 เดือนเศษ จ่ายค่ายาและค่ารักษาทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลเป็นเงิน 17,685 บาท ค่าเก้าอี้สำหรับคนถูกตัดขาและค่าพาหนะเป็นเงิน 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,685 บาท โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขอคิดค่าขาดรายได้เป็นเงิน 600,000 บาท และค่าทนทุกข์ทรมาน 100,000 บาทขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 27,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่(จำเลย) ได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,340 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 2 ในอัตราเดือนละ 1,200 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2522 ถึงเดือนธันวาคม2526 รวม 5 ปี เป็นเงิน 72,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 รวม 722,685 บาท เว้นแต่ถ้าจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3เป็นจำนวนเท่าใดก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การทั้งสองสำนวนว่า เหตุไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1แต่เกิดจากความประมาทของนายวรวุธ โจทก์ทั้งสามไม่ได้เสียหายมากตามฟ้องโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้ว เพราะโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจการปกครองนายวรวุธให้อยู่ในความดูแลของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 3 ถูกตัดขาไม่ใช่เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุในคดีนี้ แต่เกิดจากโจทก์แทรกซ้อนซึ่งมีอยู่ก่อนและเป็นความประมาทของโจทก์ที่ 3 ด้วย โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเหตุที่ต้องเสียขาพิการจำนวน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 3 ให้การทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 2 โดยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมและความเสียหายให้บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 2แต่ละครั้งรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 27,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 72,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 721,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสามด้วย

จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 27,060 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 72,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 481,000 บาท แต่เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวน 4,665.03 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 12,412.50 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน82,922.42 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 2,000 บาท

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า สำหรับเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสามไม่เสียหายเท่าศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น เห็นว่า ค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าทำศพของโจทก์ที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 27,060 บาท เต็มตามฟ้อง คดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 258 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แล้วได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลว่าา สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ข้อเท็จจริงในเบื้องแรกฟังได้ว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับโดยประมาทเลินเล่อทับขาโจทก์ที่ 3 ทั้งสองข้าง โจทก์ที่ 3ว่าแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตรวจแล้วมีความเห็นว่าต้องตัดขาขวาตั้งแต่บริเวณเหนือเข่า ส่วนขาซ้ายต้องรอดูผลการรักษาก่อน แต่ต้องตัด จะตัดตั้งแต่บริเวณไหนตอนนั้นยังไม่ทราบ แสดงว่า แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าก็มีความเห็นว่าต้องตัดขาทั้งสองข้างซึ่งโจทก์ที่ 3 ไม่ยอมให้ตัด จึงได้ออกจากโรงพยาบาลไปรักษาหมอกระดูกทางไสยศาสตร์อยู่ประมาณ 1 เดือน ไม่หายจึงไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลยาสูบ แพทย์ได้ตัดขาโจทก์ที่ 3 ทั้งสองข้าง เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 3 ไม่ยอมตัดขาทั้งสองข้างตามความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในตอนแรกแล้วไปรักษาตัวกับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องความเชื่อของโจทก์ที่ 3 ว่าจะหายได้โดยไม่ต้องตัดขา เป็นสิทธิของโจทก์ที่ 3 ที่จะเลือกวิธีรักษาเช่นนั้นได้ เมื่อรักษากับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ไม่หายจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลยาสูบ โดยแพทย์ตัดขาทั้งสองข้างของโจทก์ที่ 3 นั้น เห็นว่าเป็นผลจากการทำละเมิดโดยตรงของจำเลยที่ 1 มิใช่มีเหตุแทรกซ้อนดังจำเลยฎีกาส่วนวิธีการรักษาโดยหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ต้องใช้แพทย์แผนปัจจุบันให้การรักษาร่วมด้วยนั้นสุดแท้แต่วิธีการรักษาของแต่ละคน จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการรักษาโดยหมอกระดูกทางไสยศาสตร์กรณีของโจทก์ที่ 3 นั้น ไม่ได้ใช้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาร่วมด้วยแต่ประการใด ดังนั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ค่ารักษาที่โจทก์ที่ 3ต้องใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ตามจำนวนที่โจทก์ที่ 3 นำสืบ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลยาสูบและค่าใช้จ่ายที่มารดาโจทก์ที่ 3 ไปดูแลโจทก์ที่ 3 ขณะรักษาตัวอยู่ในที่ต่าง ๆ และพาโจทก์ที่ 3 ไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ และพาโจทก์ที่ 3 กลับบ้านด้วย ซึ่งเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 21,000 บาท ชอบแล้ว

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่ยกฎีกาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ 1,000 บาท แทนโจทก์สำหรับโจทก์ที่ 3 เนื่องจากได้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา จึงให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องใช้แทนโจทก์ที่ 3 ต่อศาลในนามของโจทก์ที่ 3

Share