คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2549/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเลิกสัญญาเช่าที่ดินตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 นั้น เมื่อผู้ให้เช่าบอกเลิกการเช่าเป็นหนังสือต่อผู้เช่า กับส่งสำเนาหนังสือนั้นต่อประธาน คชก. ตำบล และประธาน คชก. ตำบล ได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบถึงการบอกเลิกการเช่าดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เช่าไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่านั้นต่อ คชก. ตำบล คชก. ตำบลก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่า กรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องผู้เช่าต่อศาลได้โดยตรง ไม่ถือว่าปฏิบัติผิดขั้นตอนของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ปลูกบ้านและทำไร่ แต่จำเลยค้างชำระค่าเช่า และให้ผู้อื่นเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการผิดสัญญาเช่า ทั้งจำเลยยังทำประโยชน์ในที่ดินน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของเนื้อที่ดินที่เช่าด้วย โจทก์จึงบอกเลิกการเช่าตามกฎหมายและจำเลยไม่ออกไปจากที่ดิน ขอให้ขับไล่จำเลยให้การว่าไม่ได้ผิดสัญญาเช่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดย คชก. ตำบลและจังหวัดยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผลทุกชนิดออกจากที่ดินพิพาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ได้ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเพื่ออยู่อาศัยและทำไร่เนื้อที่ 20 ไร่ โดยทำสัญญาเช่าครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2521 คิดค่าเช่าไร่ละ 100 บาท ต่อปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าครั้งแรกแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2525 โจทก์ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินดังกล่าวต่อไปอีกมีกำหนด 3 ปี ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าที่ดินดังกล่าวต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5, จ.6 และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อนายประหยัด หมื่นชำนาญ กำนันตำบลอ่างหินอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นประธาน คชก. ตำบลในท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตามเอกสารหมาย จ.7, จ.8 และนายประหยัดได้แจ้งเรื่องที่โจทก์ขอบอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบแล้วแต่จำเลยไม่ได้คัดค้านการบอกเลิกการเช่าดังกล่าวต่อ คชก. ตำบลและ คชก. ตำบลก็มิได้มีการพิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้แต่อย่างใด ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการแรกก็คือ การที่จำเลยไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่าที่ดินของโจทก์ และ คชก. ตำบลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จะทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยผู้เช่าดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่าต่อ คชก. ตำบลนั้นตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 นอกจากจะไม่ได้บัญญัติในเรื่องนี้ให้ดำเนินการต่อไปแต่อย่างใดแล้วมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของคชก. ตำบลไว้ดังนี้ “ฯลฯ (2) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่า การชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่าตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ฯลฯ” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คชก. ตำบลจะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในกรณีที่มีคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น แต่ในคดีนี้จำเลยไม่ได้คัดค้านการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ต่อ คชก. ตำบล ทั้งสำเนาหนังสือการบอกเลิกการเช่าที่โจทก์ส่งต่อประธาน คชก. ตำบลก็เป็นเพียงการแจ้งให้ประธาน คชก.ตำบลทราบเพื่อประธาน คชก. ตำบลจะได้แจ้งให้จำเลยทราบตามกฎหมายเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องของโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้คัดค้านการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ต่อ คชก. ตำบล จึงเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้เช่าและจำเลยผู้เช่าไม่ได้มีคำร้องขอต่อคชก. ตำบล คชก. ตำบล จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ นอกจากนี้หากพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ประสงค์จะให้ คชก. ตำบลต้องพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องที่ผู้เช่าไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่าด้วยแล้ว ความในวรรคแรกของมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ว่าถ้าผู้เช่านาคัดค้านการบอกเลิกการเช่านา ก็หาจำต้องบัญญัติไว้ไม่เมื่อ คชก. ตำบลไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยแล้วกรณีเช่นนี้ จึงไม่จำต้องใช้บทบัญญัติของมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาใช้บังคับต่อโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
….ฯลฯ….”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่คำขอในส่วนที่ให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้เองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายให้ยกเสีย เพราะโจทก์ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ

Share