คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าอาคารระหว่างโจทก์ผู้ให้เช่า และจำเลยผู้เช่าตกลงกันให้จำเลยผู้เช่าเป็นผู้ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่ใช้ประจำอยู่กับอาคารที่เช่า เมื่อจำเลยผู้เช่าไม่ชำระ และโจทก์ได้ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวไป การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าอันมีอายุความหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่)และเมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปีคดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าอาคาร พร้อมเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งโทรศัพท์ไปจากโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่ได้ใช้ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต่อมาจำเลยทั้งสองออกจากอาคารที่เช่าโดยค้างชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์เป็นจำนวน 55,050 บาท โจทก์ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,114 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 55,050 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าอาคารจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 55,050 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 มิถุนายน 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 42 ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) แขวงพระโขนงเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครและเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์มีกำหนด 2 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2529 ตามหนังสือสัญญาเช่าทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าโทรศัพท์ที่ใช้ประจำอยู่กับอาคารที่เช่า โทรศัพท์หมายเลข391-9577 และ 391-4395 เป็นโทรศัพท์ที่ใช้ประจำอาคารที่เช่าต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้ออกจากอาคารที่เช่าในเดือนเมษายน 2529 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทยจากเครื่องโทรศัพท์ 2 หมายเลข ดังกล่าวในระหว่างเดือนมกราคม 2529ถึง เดือนมีนาคม 2529 และค้างชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เช่นนั้นเป็นเงิน 55,050 บาท ซึ่งโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินจำนวนนั้นให้โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามจำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่าแม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันตามหนังสือสัญญาเช่าทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ว่า “ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า น้ำประปาโทรศัพท์ อันเป็นสาธารณูปโภคที่รัฐหรือองค์การของรัฐจัดให้มีขึ้นและใช้ประจำอยู่กับอาคารหรือทรัพย์สินที่เช่า” และจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม2529 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 เช่าอยู่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวไป และฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระคืนให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าอันมีกำหนดอายุความหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563 แต่เป็นการฟ้องเรียกเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) และเมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไปถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปีฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share