คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานอัยการได้ขอผัดฟ้องจำเลยมาตลอดภายหลังจากที่มีอำนาจควบคุมตัวจำเลยไว้ 48 ชั่วโมง ตามกฎหมายแล้ว และตามคำร้องขอผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ศาลอนุญาตให้พนักงานอัยการผัดฟ้องได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โจทก์ฟ้องจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่ต้องขออนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและไม่จำเป็นที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำฟ้องด้วยว่า ได้มีการขอผัดฟ้องศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตไว้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีศีรษะนายวีระพงษ์ ใจบุญผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลฉีกขาดยาว 3 เซนติเมตร ลึกถึงกระดูกบริเวณหน้า ใช้เวลารักษาหายภายใน 7 วัน วันที่ 14 เมษายน 2541 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว ได้รับการประกันตัวตลอดมาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายวีระพงษ์ ใจบุญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า คดีนี้ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2541ระหว่างสอบสวนจำเลยได้รับการประกันตัวตลอดมา แสดงว่าพนักงานสอบสวนถือว่าจำเลยได้ตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดคดีนี้ในทันทีที่ได้รับมอบตัว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าได้ขอผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลย่อมยกขึ้นอ้างได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯพ.ศ. 2499 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ได้ความว่า “ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2541 จำเลยได้มามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวโดยมีประกันตัวไปตลอดมา”ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าได้มีการจับกุมจำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณียื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราวเมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว และตามบทบัญญัติในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ขอผัดฟ้องจำเลยตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องขออนุญาตฟ้องจากอัยการสูงสุด โดยโจทก์แนบเอกสารคำร้องขอผัดฟ้องของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและของพนักงานอัยการโจทก์ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 5 ที่ศาลแขวงลำปางอนุญาตให้ผัดฟ้องจำเลยประกอบมาพร้อมด้วย และเอกสารดังกล่าวได้มีรองจ่าศาลรับรองสำเนาถูกต้อง จำเลยมิได้แก้ฎีกาเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารที่ถูกต้องและมีอยู่จริงเมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานอัยการได้ขอผัดฟ้องจำเลยมาตลอดภายหลังจากที่มีอำนาจควบคุมตัวจำเลยไว้สี่สิบแปดชั่วโมงตามกฎหมายแล้ว และตามคำร้องขอผัดฟ้องจำเลย ครั้งที่ 5 อันเป็นครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้พนักงานอัยการผัดฟ้องจำเลยได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โจทก์ฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว จึงไม่ต้องขออนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ไม่จำเป็นที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำฟ้องด้วยว่าได้มีการขอผัดฟ้อง ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตไว้อีกในเมื่อฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้วฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นและเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีตามที่จำเลยอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อน”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share