คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีไม้ตะเคียน หินแปรรูป ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ปริมาตร 0.37 ลูกบาศก์เมตร กับไม้ยางแปรรูปปริมาตร 0.09ลูกบาศก์เมตรไว้ในความครอบครอง รวมเป็นปริมาตรไม้ทั้งสิ้น0.46 ลูกบาศก์เมตร ดังนี้หากจำเลยมีแต่เพียงไม้ยางอย่างเดียวปริมาตรไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จำเลยย่อมจะไม่มีความผิดตามมาตรา 48 การที่จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปประเภท ก. ด้วย ทำให้ปริมาตรไม้ทั้งหมดเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จำเลยไม่ต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) คงลงโทษจำเลยตามมาตรา 73วรรคแรกเท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินแปรรูปจำนวน28 แผ่น ปริมาตร 0.37 ลูกบาศก์เมตร และไม้ยางแปรรูป จำนวน20 แผ่น ปริมาตร 0.09 ลูกบาศก์เมตร รวมไม้ทั้งสิ้น 44 แผ่นปริมาตรา 0.46 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรและเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2518 มาตรา 7, 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7, 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,000 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48บัญญัติว่า “ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ห้ามิให้ผู้ใด…มีไม้สักแปรรูปไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” และพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484มาตรา 73 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม…มาตรา 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ
(1) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ
(2) ไม้อื่นเป็นต้น หรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรหรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร
ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท”
พิเคราะห์แล้ว มาตรา 73 เป็นบทลงโทษของมาตรา 48 ถ้าหากจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 48 แล้ว ย่อมลงโทษตามมาตรา 73 นี้ไม่ได้กรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 48 นั้น ไม้หวงห้ามแปรรูปที่มีไว้ในครอบครองจะต้องมีปริมาตรเป็นจำนวนเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรเว้นแต่ไม้สักเพียงอย่างเดียว ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดทั้งสิ้น ไม่ว่าไม้สักที่มีนั้นจะมีปริมาตรจำนวนเท่าใด ส่วนมาตรา 73วรรคสอง (1) เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้นสำหรับความผิดที่เกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยางหรือไม้หวงห้ามประเภท ข. แต่ในกรณีที่เป็นไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ที่มิใช่ไม้สักแล้ว จะต้องมีปริมาตรไม้เป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำจึงจะได้รับโทษหนักขึ้นตามบทบัญญัติมาตรา 73 วรรคสอง (1) นี้ เพราะการมีไม้ยางแปรรูปเพียงอย่างเดียวและมีปริมาตรไม้ไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 48 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินแปรรูป ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ปริมาตร 0.37 ลูกบาศก์เมตร กับไม้ยางแปรรูปปริมาตร 0.09 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง รวมเป็นปริมาตรไม้ทั้งสิ้น 0.46 ลูกบาศก์เมตร หากจำเลยมีแต่เพียงไม้ยางอย่างเดียวปริมาตรไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จำเลยย่อมจะไม่มีความผิดตามมาตรา 48 เลย การที่จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปประเภท ก. คือไม้ตะเคียนหินรวมเข้าด้วย ทำให้ปริมาตรไม้ทั้งหมดเกิน 0.20ลูกบาศก์เมตร หาทำให้การกระทำของจำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) ไม่ คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 73วรรคแรกเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 73วรรคแรก จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share