คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของผู้เสียหายซึ่งแม้จะไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 วรรคแรก และเมื่อผู้สืบสันดานของผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์ มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ก็ดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยมารดาไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เยาว์ต่อศาลก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันลักกระบือของผู้มีอาชีพกสิกรรมซึ่งมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือร่วมกันรับของโจรกระบือดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม เด็กชายบุญคำ บุญมา บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย โดยนางบัว บุญมา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้จำคุก คนละ ๒ ปี
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้เป้นคดีอาญาซึ่งมิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในชั้นฎีกาไม่ได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ส่วนฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ว่า เด็กชายบุญคำ บุญมา เป็นบุตรโจทก์ซึ่งเกิดแต่นางบัว โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันเป็นบุครโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ไม่มีอำนาจเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ผู้ตายได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๙ วรรคแรก บัญญัติว่าเมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ดังกล่าวหมายถึง ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง เด็กชายบุญคำแม้จะไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์แก่ก็เป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของโจทก์ จึงมีสิทธิดำเนินคดีต่างโจทก์ผู้ตายต่อไปได้ เทียงเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๘๔/๒๕๑๖ (ประชุมใหญ่) ระหว่างนายหมุน นิยมญาติ ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมนางสาวลออ นิยมญาติ ผู้เยาว์ผู้ตาย โจทก์นายเจริญ ช่วยนุกูล จำเลย ส่วนฎีกาจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ว่า นางบัว บุญมา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายบุญคำ เข้ามาดำเนินคดีแทนเด็กชายบุญคำโดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเป็นผู้แทนเแพาะคดีของผู้เยาว์ต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เด็กชายบุญคำ โดยนางบัวผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้เด็กชายบุญคำผู้เยาว์เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมายอยู่แล้ว นางบัวมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทนเด็กชายบุญคำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ฎีกาจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ทั้งสองข้อฟ้งไม่ขึ้นและศาลฎีกาเห็นสมควรให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ในสถานเบา แต่ไม่รอการลงโทษและปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ โดยระบุวรรคด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ คนละ ๑ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share