คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 เจ้าของรถยนต์ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 4 บริษัทผู้รับประกันภัยมีข้อตกลงว่า”บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง…” เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวได้นำรถยนต์ไปใช้โดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนขับแล้วเกิดเหตุละเมิดขึ้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3และมีฐานะเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยเองตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. ตามมาตรา 425และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชอบตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนดังกล่าวด้วยส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ครอบครองรถขณะเกิดเหตุจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ประเด็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการเชิด จำเลยที่ 3 ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยหรือไม่ โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างไว้ในคำฟ้องชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ. 08801 ของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาทจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก. 03863 จำเลยที่ 4 เป็นบริษัทประกันภัยได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก. 03863 ไว้จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนต.ก. 03863 ด้วยความประมาทชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ. 08801ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างอายุสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 1ได้จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาทและจ่ายค่ารถยกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ. 08801 เป็นเงิน3,400 บาท โจทก์ที่ 1 จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้เป็นเงิน103,400 บาท โจทก์ที่ 2 ต้องยกซากรถดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 โดยได้รับค่าชดใช้ตามสัญญาประกันภัย แต่รถคันนี้มีราคา 200,000 บาทโจทก์ที่ 2 จึงได้รับความเสียหายอีก 100,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 103,400 บาท แก่โจทก์ที่ 2พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ยื่นคำขอเพื่อให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก. 03863 และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุรถไม่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เหตุเกิดเพราะความประมาทของลูกจ้างผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ. 08801 ของโจทก์ที่ 2 รถของโจทก์สามารถซ่อมได้ดีดังเดิมได้โดยเสียค่าซ่อมน้อยกว่าที่กล่าวในฟ้อง โจทก์ที่ 2 ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถประมาทฝ่ายเดียว ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 99,500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่27 มีนาคม 2521 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระเงินจำนวน 25,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดว่าค่าทนายความให้ 4,000 แทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ที่จำเลยที่ 3 ทำขึ้นกับจำเลยที่ 4 มุ่งรับผิดต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกและมีข้อตกลงยินยอมระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4อีกว่า “บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง…” ดังนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งยินยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำรถยนต์ไปใช้ในขณะเกิดเหตุจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจำเลยที่ 4 ในฐาะผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ด้วยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้นำรถยนต์ไปใช้โดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนเป็นคนขับแล้วเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวิทย์มอเตอร์ จำเลยที่ 3 และมีฐานะเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง ตามข้อตกลงยินยอมระหว่างจำเลยที่ 3 ที่ 4ดังกล่าว เมื่อนายประดิษฐ์ ราชวงษ์ จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทและทำละเมิดเกิดความเสียหายขึ้น ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยตามข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 4 ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3583/2529 ระหว่างนายสอาด สายทอง กับพวก โจทก์ นายสมพืช เอี่ยมศรีปลั่งกับพวก จำเลย สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ครอบครองรถด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 3 ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย ล.2 เท่ากับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 4 เอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทชนรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1968/2523 ระหว่าง บริษัทสหยนต์แท็กซี่ จำกัด โจทก์นายโสภณ ยอดประเสริฐ กับพวก จำเลย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นข้อนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างไว้ในคำฟ้องชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1ที่ 2 รวม 2,000 บาท ค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share