คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ. ฝิ่นพุทธศักราช 2472 โดยบัญญัติให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และมาตรา 17บัญญัติห้ามมิให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครอง หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 69 ซึ่งมีโทษเบากว่าโทษฐานมีมูลฝิ่นไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ. ฝิ่น พุทธศักราช 2472 อันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำผิด แตก ต่างกับกฎหมายซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำผิดเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 69 ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติฝิ่นพุทธศักราช 2472 มาตรา 8, 11, 53, 53 ทวิ, 69 พระราชบัญญัติฝิ่น(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2502 มาตรา 5, 6 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 4(2), 55, 78 (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8 กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 มาตรา 53 ทวิ จำคุก 1 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 78 และ (ฉบับที่ 7)พ.ศ.2522 มาตรา 8 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 6 ปี ยกข้อหานอกนั้น และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีมูลฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตกระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอีกกระทงหนึ่งแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “…เนื่องจากขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 3 ได้บัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช2472 เสียทั้งสิ้น และประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2528 โดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในขณะที่ไม่มีประกาสให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่น หรือพันธุ์ฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทใดตามมาตรา 7 และมาตรา 8(1) ให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่นตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 17 บัญญัติห้ามมิให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 2ไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้รับในอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 69ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทอันเป็นโทษที่เบากว่าโทษฐานมีมูลฝิ่นไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติฝิ่นพุทธศักราช 2472 ที่แก้ไขแล้ว มาตรา 53 ทวิ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี ปรับสิบเท่าราคาฝิ่นหรือมูลฝิ่น แต่ไม่น้อยกว่าสองพันบาท อันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 ลงโทษจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 จำคุก 1 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 78 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 8 จำคุก 5 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 6 ปี”.

Share