คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ผู้ตายขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกแล้วพิมพ์ใหม่ว่า “ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้” โดยผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับนั้น การขีดฆ่าดังกล่าวไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรมเพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า “พยาน” ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่า จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรม มิใช่เป็นผู้รับมอบแต่อย่างใด การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตกเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง จึงไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล จำเลยเป็นหลานของผู้ตาย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 โจทก์ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอรับโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยได้นำพินัยกรรมมาขอรับโอนมรดกแล้ว โจทก์ตรวจดูพินัยกรรมดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด มีการขีดฆ่าข้อความสำคัญในพินัยกรรมโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับ ลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอมและมีการพิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จเหนือลายมือชื่อผู้ตาย พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าว และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกคืนให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ ผู้ตายเป็นผู้ทำและลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานสองคน การแก้ไขขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ออก ไม่ได้เติมข้อความใดๆ ลงไปแทน และการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” ออก แล้วพิมพ์คำว่า “พยาน” ลงไปแทน ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่ได้แก้ไขในประเด็นสำคัญ ไม่ทำให้สิทธิการรับมรดกตามพินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไป และไม่ทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกไปจึงขีดฆ่าทิ้งแล้วพิมพ์ใหม่เป็นว่า “ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้” การขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรม เพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าคำดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลย ผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า “พยาน” ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่านายเจษวัฒลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรม มิใช่เป็นผู้รับมอบแต่อย่างใดการแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม ทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคสอง จึงไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามที่โจทก์ฎีกา พินัยกรรมของผู้ตายมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย”
พิพากษายืน

Share