คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อติดตามทำร้ายบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ และขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 371 ด้วย แต่บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพามีดดาบซึ่งเป็นอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันจะเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว คำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดดังกล่าวได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 215, 371 ริบมีดดาบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธ ปรับคนละ 100 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 50 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบมีดดาบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจา จำเลยทั้งสองกับพวกมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อติดตามทำร้ายบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ และขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย แต่บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพามีดดาบซึ่งเป็นอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร อันจะเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว คำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สมควรลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองกับพวก 15 คน มั่วสุมกันโดยมีอาวุธแล้วใช้รถจักรยานยนต์หลายคันเป็นยานพาหนะขับไปตามถนนสาธารณะเพื่อติดตามทำร้ายบุคคลอื่น เป็นการกระทำที่สร้างความวุ่นวายและตระหนกตกใจขึ้นในที่สาธารณะ ทั้งอาจทำให้สุจริตชนได้รับอันตรายจากการใช้กำลังประทุษร้ายของจำเลยทั้งสองกับพวกได้ อันกระทบต่อความปลอดภัยของสังคม ลักษณะของความผิดเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดแล้ว ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยที่ 1 รับราชการทหารกองประจำการ ส่วนจำเลยที่ 2 มีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share