แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบแก่สิบตำรวจตรี น. กับพวกที่ลานจอดรถแล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 รอรับชำระเงินจากพันตำรวจโท ป. หลังจากตรวจสอบจำนวนเงินกัน การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว มิใช่ยังอยู่ในขั้นพยายาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงกระดาษของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นเวลาคนละ 33 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงกระดาษของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม), 102 การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุพันตำรวจโทประยูรกับพวกจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พร้อมเมทแอมเฟตามีนและถุงกระดาษสีเขียวของกลางตามที่วางแผนล่อซื้อ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทประยูรพยานโจทก์ว่ามุ่งล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 1 ตามรายงานของสายลับเป็นหลัก โดยพยานไม่รู้ข้อมูลเชื่อมโยงในขบวนการของจำเลยที่ 1 ว่ามีใครร่วมงานบ้าง คงได้ความจากจำเลยที่ 1 เพียงว่าจะใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ สีขาว หมายเลขทะเบียน ป – 6772 กาญจนบุรี เป็นยานพาหนะขนสินค้ามาขายให้เท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะคันนั้น และจะเดินทางมาอย่างไร เมื่อพยานโจทก์พบจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะคันนั้นมาล้างคราบโคลนในสถานีบริการน้ำมันที่พยานรอรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่ล่อซื้อจากจำเลยที่ 1 นั้น เป็นเวลาภายหลังจากรถคันนั้นเสร็จภารกิจตามคำบอกกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีเหตุให้คาดเดาเหมารวมว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถยนต์กระบะคันนั้นขนส่งเมทแอมเฟตามีนมาจากภาคเหนือร่วมกับนายณรงค์เดชหรือพงษ์ตามที่โจทก์คาดหมายไว้ในฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยเห็นรถยนต์กระบะคันนั้น จำได้ว่าเป็นรถคันที่นายณรงค์เดชใช้ขนส่งเมทแอมเฟตามีน น่าเชื่อว่าเมื่อเห็นจำเลยที่ 3 นำรถมาล้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งลงไปยืนรออยู่ข้างรถของพยานโจทก์จึงไปสอบถามหานายณรงค์เดชซึ่งพวกตนรอคอยอยู่เพื่อติดตามผลงาน ส่วนจำเลยที่ 3 นำรถมาล้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งลงไปยืนรออยู่ข้างรถของพยานโจทก์จึงไปสอบถามหานายณรงค์เดชซึ่งพวกตนรอคอยอยู่เพื่อติดตามผลงาน ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ไม่น่าจะมีเหตุผลให้ต้องผลีผลามตามมาพูดจากับจำเลยที่ 2 หากนายณรงค์เดชประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 มาส่งสัญญาณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าตนขนเมทแอมเฟตามีนมาถึงที่หมายแล้วตามที่อ้างในฎีกา จำเลยที่ 3 ก็เพียงแต่ขับรถยนต์กระบะคันนั้นมาให้เห็นก็เพียงพอแล้ว เมื่อโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอื่นในฐานะตัวการอย่างไร นอกจากการคาดเดาดังกล่าวพยานหลักฐานของโจทก์จึงตกอยู่ในความสงสัยตามควรดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำตามฟ้องนั้นเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิด เพราะขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมนั้นพันตำรวจโทประยูรยังมิได้ชำระราคาเมทแอมเฟตามีน การซื้อขายจึงยังไม่สำเร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 นั้น เห็นว่า หากคำนึงตามบทกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นมาโต้แย้งแล้ว การซื้อขายรายนี้สำเร็จลงตั้งแต่มีการนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 7,000 เม็ดในถุงกระดาษสีเขียวมาให้พันตำรวจโทประยูรดูที่สถานีบริการน้ำมันแห่งนั้นแล้ว เพราะถือว่านับจำนวนส่งมอบแล้ว การชำระราคาที่จำเลยที่ 1 กังขาเป็นเพียงภาระที่ผู้ซื้อต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดต่อไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ในทางอาญาเช่นการซื้อขายยาเสพติดให้โทษเช่นนี้ ศาลจะตีความเคร่งครัดกว่าในทางพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีนี้จำเลยที่ 1 ได้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบแก่สิบตำรวจตรีนิรันดร์กับพวกที่ลานจอดรถหน้าโรงพยาบาลท่าม่วงแล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 รอรับชำระเงิน 315,000 บาท จากพันตำรวจโทประยูรหลังจากตรวจสอบจำนวนเงินกันแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดสำเร็จ มิใช่ยังอยู่ในขั้นพยายาม ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า โทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว นอกจากนั้นศาลดังกล่าวต่างก็ลดโทษแก่จำเลยที่ 1 เต็มตามส่วนที่อาจลดหล่อนได้ตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษให้ต่ำกว่านั้นได้อีก ฎีกาทั้งสองข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน