แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด ในการทำงานของโจทก์นั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงานของบริษัทจำเลย แม้โจทก์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานของบริษัทจำเลยโดยต้องมาทำงานทุกวัน ก็ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยและทำงานกับจำเลยโดยเป็นกรรมการมาแต่แรก การทำงานของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยจึงเป็นการทำในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจำเลยที่โจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมา แม้โจทก์จะได้รับเงินเดือนจากจำเลย แต่การทำงานของโจทก์ในบริษัทจำเลยไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลย เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยโดยเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้น มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยในส่วนงานก่อสร้างและติดต่อพบปะลูกค้า ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานมา 5 ปี 7 เดือน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 787,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า การทำงานในตำแหน่งกรรมการของโจทก์ตั้งแต่เริ่มแรกนั้นจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้มาเป็นลูกจ้าง ลักษณะงานของโจทก์ไม่เหมือนลูกจ้างทั่วไป โจทก์ไม่มีแฟ้มประวัติ ไม่มีการสมัครงาน ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลาไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท การบังคับบัญชาก็ไม่มีผู้บังคับบัญชาโจทก์ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยหามีลักษณะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยอันเป็นลักษณะขอสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 285,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 214,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันเลิกจ้าง (วันที่ 26 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไป ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 35,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มกราคม 2545) เป็นต้นไป และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 35,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง (วันที่ 25 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด โจทก์ต้องมาทำงานทุกวัน บางวันหรือส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไซด์งาน (สถานที่ก่อสร้าง) การดำเนินงานหรือการแก้ปัญหาตามปกติของโจทก์ โจทก์ทำได้เองโดยอิสระเว้นแต่เรื่องใหญ่ๆ หรือมีจำนวนเงินสูงๆ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ โจทก์ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมของกรรมการหรือปรึกษานายสาธิต วังจริยา กรรมการบริษัทจำเลยอีกคนหนึ่งก่อน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในการทำงานของโจทก์นั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงานของบริษัทจำเลย แม้โจทก์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานบริษัทจำเลยโดยต้องมาทำงานทุกวัน ก็ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยและทำงานกับจำเลยโดยเป็นกรรมการมาแต่แรก การทำงานของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยจึงเป็นการทำในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจำเลยที่โจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมา แม้โจทก์จะได้รับเงินเดือนจากจำเลย แต่การทำงานของโจทก์ในบริษัทจำเลยไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลย เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลยเป็นคดีนี้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์