คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภรรยาเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กผู้เป็นบุตรเรียกทรัพย์ของสามีผู้เป็นบิดาของบุตร จากปู่ของบุตร ดังนี้แม้การฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กจะไม่ชอบเพราะเป็นอุทลุม แต่ที่ฟ้องในฐานะส่วนตัวยังสมบูรณ์อยู่ฉนั้นอัยการในนามของเด็กบุตรโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเด็กให้ได้รับความคุ้มครองได้
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยโดยอ้างว่าเป็นของผู้ตายและโจทก์เป็นทายาท เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทรัพย์ของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่งและจำเลยก็เป็นทายาทผู้หนึ่งด้วยเหมือนกัน ดังนี้ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งทรัพย์รายนั้นออกเป็น 2 ส่วนก่อนแล้วให้แบ่งส่วนของผู้ตายให้แก่โจทก์จำเลยผู้เป็นทายาทตามส่วนที่ตนมีสิทธิได้
อัยการในนามของเด็กฟ้องเรียกมรดกของบิดาเด็กจากปู่ของเด็ก เมื่อเด็กบางคนตายในระหว่างคดีอัยการก็ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์สำหรับเด็กคนที่ตายนั้นต่อไป แต่ศาลก็พิพากษาให้เด็กที่ยังอยู่ได้รับส่วนแบ่งตามส่วนของตนที่มีอยู่เดิม ส่วนของเด็กที่ตายซึ่งเหลือจากแบ่งให้เด็กที่ยังอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่จะเรียกร้องกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
ฟ้องเรียกเงินทั้งหมดได้ความว่าเป็นขอโจทก์จำเลยร่วมกัน ศาลพิพากษาให้แบ่งไปเลยแต่โจทก์ไม่สมควรได้ดอกเบี้ย

ย่อยาว

นางเฮียง สภารัตน์ โจทก์ ฟ้องว่าเป็นภรรยานายสมพงษ์ สภารัตน์ ผู้ตาย เกิดบุตรด้วยกัน ๖ คนคือโจทก์ในคดีนี้นายสมพงษ์ตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม์ไว้ โจทก์กับบุตร ๖ คนจึงเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายสมพงษ์ นายสุยจำเลยเป็นบิดานายสมพงษ์ นายใหญ่จำเลยเป็นน้องนายสมพงษ์ จำเลยทั้ง ๒ ได้เอาข้าวของโจทก์และนายสมพงษ์ไปขายแก่ผู้อื่น ได้เงินมาแล้วไม่ยอมมอบให้โจทก์ ๆ จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้
ก่อนวันนัดพิจารณาอัยการจังหวัดสุรินทร์ได้ยื่นคำร้องเข้ามา มาเป็นโจทก์ร่วมกับนางเฮียงโจทก์ในนามของผู้เยาว์ทั้ง ๖ ซึ่งเป็นบุตรนางเฮียงโจทก์ โดยถือเอาคำฟ้องของนางเฮียงโจทก์เป็นคำฟ้องของอัยการด้วย ศาลอนุญาต
นางเฮียง นายเย้นขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว ก่อนศาลชั้นต้นตัดสินปรากฎว่าเด็กชายสนั่นโจทก์ตายอีกคนหนึ่ง และไม่ปรากฎว่ามีผู้ขอรับมรดกความ
ศาลชั้นต้นฟังว่า นางเฮียงโจทก์แต่งงานกับนายสมพงษ์ก่อนใช้ ป.ม.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ จึงเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้าวที่ขายเป็นของนายสุยจำเลยที่ ๑ กับของนายสมพงษ์ผู้ตายคนละครึ่ง ส่วนของผู้ตายเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์กับบุตรโจทก์และนายสุยคนละส่วนรวม ๗ ส่วน เพราะส่วนของเด็กชายสนั่นบุตรโจทก์นั้นตายเสียในระหว่างพิจารณาไม่มีผู้มีสิทธิจะรับมรดกแทนที่
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นางเฮียงโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมพงษ์ จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของนายสมพงษ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนางเฮียงในฐานะส่วนตัวแล้ว ให้แบ่งส่วนของนายสมพงษ์ให้แก่นายสุยจำเลยกับบุตรโจทก์ทั้ง ๖ คน รวม ๗ คน ๆ ละส่วน ของ ด.ช.สนั่นให้มารดาและพี่ของ ด.ช.สนั่น รับไป
คู่ความทุกฝ่ายฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องอำนาจฟ้องนั้นนางเฮียงเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กบุตร โจทก์ แม้การฟ้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กจะไม่ชอบเนื่องจาก ก.ม.ห้ามมิให้ฟ้องบุพการีก็ดี แต่ที่นางเฮียงฟ้องในฐานะส่วนตัวก็ยังสมบูรณ์อยู่ ดังนั้นอัยการในนามของเด็กบุตรโจทก์ย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับนางเฮียง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเด็กให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่มีอยู่ได้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ด.ช.สนั่นได้ตายไปในระหว่างคดีทั้งมิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดร้องขอรับมรดกความ คดีเกี่ยวกับ ด,ช.สนั่นก็ต้องระงับไปนั้น จริงอยู่คดีนี้อัยการเข้ามาเป็นโจทก์เพื่อรักษาประโยชน์ของเด็กชายสนั่นในการฟ้องจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นบุพการี เมื่อเด็กชายสนั่นตายอัยการก็ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องสำหรับ ด.ช.สนั่นต่อไป แต่อย่างไรก็ดีส่วนได้ของเด็กชายสนั่นที่เหลือจากแบ่งให้แก่โจทก์จำเลยไปแล้วนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเรียกร้องกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังว่า นางเฮียงโจทก์เป็นภรรยานายสมพงษ์นี้ก่อนใช้ ป.ม.แพ่งฯบรรพ ๕ จึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งสินสมรสและมรดกด้วย ฉะนั้นจึงพิพากษาแก้ให้แบ่งเงินค่าขายข้าวได้ออกเป็นของนายสุ่ยจำเลยส่วน ๑ ของนายสมพงษ์ส่วน ๑ ส่วนของนายสมพงษ์ให้แบ่งอย่างสินสมรสออกเป็น ๓ ส่วน เป็นของนายสมพงษ์ ๒ ส่วนของนางเฮียงโจทก์ ๑ ส่วนส่วนของนายสมพงษ์ ๒ ส่วนตกเป็นมรดกได้แก่นางเฮียงโจทก์กับบุตร ๖ คน และนายสุยจำเลยคนละ ๑ ส่วน รวมเป็น ๘ ส่วน

Share