คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2531/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1129วรรคสามที่บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้นหมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย ขณะที่มีการโอนขายหุ้นกันส. ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยแม้ส. จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัวแต่ในฐานะที่ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วยจึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้วบริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีกการที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองและการที่บริษัทจำเลยยกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5บริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา1129วรรคสามไม่ได้ส่วนมาตรา1133เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนหมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ไม่ได้หมายถึงว่าผู้โอนจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นไปแล้วผู้คัดค้านจึงเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา119ไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลย โดยถือหุ้นอยู่ 180 หุ้น มูลค่าหุ้นละ1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 250 บาท คงค้างชำระค่าหุ้นรวม135,000 บาท ผู้ร้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2519 และในวันที่ 20 เมษายน 2519 ได้โอนหุ้นของผู้ร้องทั้งหมดให้นายสมศักดิ์ ฉันทนากร กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยซึ่งถือว่าจำเลยรู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดแจ้งการโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อไม่จดแจ้งต้องเป็นความผิดของจำเลยเอง มูลหนี้ตามฟ้องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ร้องโอนหุ้นไปแล้ว ผู้ร้องไม่ต้องรับผิด ส่วนมูลหนี้ที่เกิดก่อนที่ผู้ร้องโอนหุ้นรวม 77,623.75 บาท นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะต้องเอาจากเงินค่าหุ้นที่เรียกเก็บจากนายจังซับ แซ่โป จำนวน 90,000 บาทเศษ ชำระก่อน ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นจึงไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายสมศักดิ์ ฉันทนากร เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวเมื่อไม่มีการแก้ไขทางทะเบียนผู้ถือหุ้น จึงต้องถือว่าบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2518 เป็นเอกสารที่ถูกต้องและแท้จริง ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และเมื่อการโอนหุ้นของผู้ร้องไม่ชอบแล้ว ผู้ร้องก็จะอ้างประโยชน์จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 ไม่ได้ ทั้งหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นภาษีค้างชำระตั้งแต่ปี 2518-2521 ซึ่งมีทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและในขณะโอนหุ้นซึ่งผู้ร้องยังคงต้องรับผิดชอบ และหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ก็มีจำนวนถึง 4,695,119.97 บาท ดังนั้น แม้จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมดชำระก็ยังไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องเคยเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นในบริษัทจำเลย จำนวน 180 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท คงค้างชำระอีกหุ้นละ 750 บาทรวมเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระทั้งสิ้น 135,000 บาท ในปี 2519ผู้ร้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยและโอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยต่อจากผู้ร้อง โดยได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกันณ ที่ทำการบริษัทจำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.10 แต่การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายสมศักดิ์ยังมิได้มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่เพียงใดศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสาม บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้น หมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย กฎหมายจึงบัญญัติให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่มีการโอนขายหุ้นกันนั้น นายสมศักดิ์ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย ดังนี้แม้นายสมศักดิ์จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัว แต่ในฐานะที่นายสมศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้ว บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีก การที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองนอกจากนี้ยังเป็นที่เห็นได้ว่า การที่บริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแต่กลับละเลยเพิกเฉยไม่จดแจ้งการโอน แล้วจะกลับมายกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 อีกด้วยบริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างเหตุว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม ไม่ได้ส่วนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนนั้นด้วย หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นดังกล่าวไปแล้วแต่อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติใน (1) และ (2) ที่ให้รับผิดเฉพาะในหนี้ของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนโอน และให้รับผิดต่อเมื่อผู้ที่ยังถือหุ้นอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหนี้ของบริษัทกับผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยเฉพาะ ฉะนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่บริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบอันผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 ได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ จำหน่าย ชื่อ ผู้ร้อง ออกจาก บัญชี ลูกหนี้ ของบริษัท จำเลย

Share