แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 1 วิ่งตามรถจักรยานยนต์และร้องเรียกให้คนช่วยจนผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง จากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดความผิดอื่นของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องบรรยายจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นมาด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการเกินไปจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 92, 93, 288, 289, 371 ริบของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 601/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพิ่มโทษและขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (7), 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต ริบหัวกระสุนปืนของกลาง คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายสุธรรม จิยาเพชร ผู้ตาย กระสุนปืนถูกที่บริเวณท้ายทอยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ และคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนางจงจิต จิยาเพชร ผู้เสียหายที่ 1 ถูกที่บริเวณหน้าท้อง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และคนร้ายยังได้ใช้อาวุธปืนยิงอีก 2 นัด กระสุนปืนถูกเด็กชายจิราวุธ จิยาเพชร ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณหลังมือกับถูกเด็กชายนฤนาถ ไชยปลอด ผู้เสียหายที่ 3 ที่บริเวณนิ้วมือ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่… เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานโจทก์ล้วนสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากข้อพิรุธใด ๆ ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีน้ำหนักยิ่งขึ้น เชื่อได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้เห็นและจดจำใบหน้าตลอดจนลักษณะรูปพรรณของคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามได้จริงว่าคือจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้ามาสั่งซื้อถ่านแก๊ส เมื่อจำเลยที่ 1 รับถ่านแก๊สจากผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้มือซ้ายดึงคอเสื้อผู้ตายทางด้านหลังและใช้มือขวาซึ่งถืออาวุธปืนสั้นยิงผู้ตาย ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 ก็ต้องวางถุงถ่านแก๊สไว้ในที่เกิดเหตุ แต่ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาและภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีถุงถ่านแก๊สที่คนร้ายทิ้งไว้ จึงขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 นั้น เห็นว่า ในการเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดซักถามผู้เสียหายที่ 1 ให้แน่ชัดว่าขณะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้นคนร้ายนำถุงถ่านแก๊สไปไว้ที่ไหน เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงข้อนี้ให้ชัดเจน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 จะถือว่าผู้เสียหายที่ 1 เบิกความขัดต่อพยานหลักฐานหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่าร้อยตำรวจเอกกระจ่าง รักษ์ณรงค์ ผู้ชำนาญในการตรวจอาวุธปืน กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า การยิงห่างจากปากกระบอกปืนถึงจุดเป้าหมายที่ยิงไม่เกิน 90 เซนติเมตร จะพบเขม่าดินปืนที่จุดถูกยิง แต่แพทย์หญิงจุฑานุช กาญจนศร พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตายเบิกความว่า ไม่พบเขม่าดินปืนและรอยไหม้ที่บาดแผลของผู้ตาย แสดงว่าผู้ตายไม่ได้ถูกยิงในลักษณะประชิดตัวดังที่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 แต่คนร้ายน่าจะนั่งยิงอยู่บนรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้ลงมาจ่อยิงผู้ตายในระยะประชิดนั้น เห็นว่า แพทย์หญิงจุฑานุชเบิกความระบุว่าจากการตรวจชันสูตรพลิกศพพบว่าผู้ตายมีบาดแผลถูกกระสุนปืนที่ท้ายทอยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นบาดแผลกระสุนปืนเข้าโดยไม่พบบาดแผลรอยกระสุนปืนออก แสดงว่ากระสุนปืนฝังอยู่ภายในร่างกายของผู้ตาย และพยานปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ในการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้ตายมีแต่รอยเลือด ไม่พบเขม่าดินปืนและไม่พบรอยไหม้เนื่องจากมีเลือดอยู่รอบ ๆ บริเวณคอและบาดแผล และพยานเบิกความตอบคำถามติงของโจทก์ว่า ที่พยานลงความเห็นในรายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพว่าไม่พบเขม่าดินปืนนั้นเนื่องจากมีรอยเลือดเปื้อนบริเวณบาดแผลจำนวนมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายผู้ตายภาพที่ 1 และที่ 2 ก็จะเห็นได้ว่าสภาพศพของผู้ตายนอนหงายอยู่โดยมีเลือดออกจากบาดแผลจำนวนมาก และมีผ้าลักษณะคล้ายผ้าขาวม้าหนุนต้นคอและศีรษะของผู้ตายอยู่ด้วย แต่เมื่อพลิกศพผู้ตายดูที่ต้นคอด้านหลังก็จะเห็นแผลถูกกระสุนปืนได้ชัดเจนโดยมีรอยเลือดตกค้างอยู่รอบ ๆ แผลเพียงเล็กน้อย แสดงว่าหลังเกิดเหตุน่าจะมีคนนำผ้าไปหนุนต้นคอและศีรษะผู้ตายตรงบริเวณแผลถูกยิงซึ่งมีเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นไปได้ที่เลือดจะชะล้างเขม่าดินปืนออกไปบางส่วน และผ้าที่นำมารองบริเวณต้นคอของผู้ตายก็อาจเช็ดถูเอาเขม่าดินปืนออกไปอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ตรวจไม่พบเขม่าดินปืนรอบ ๆ บาดแผลของผู้ตาย จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ขัดกับพยานหลักฐานในส่วนนี้ สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระแก่คดีและไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามจริง ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะฟังได้ว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 1 วิ่งตามรถจักรยานยนต์และร้องเรียกให้คนช่วยจนผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง จากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดความผิดอื่นของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องบรรยายจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นมาด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการเกินไปจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ส่วนในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนนั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสาม จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กำหนดให้โทษคงเดิม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8