คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พันตรี ว. มิได้ไปร่วมฟังการสอบสวนตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 26 ทวิ แต่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกร่วมฟังการสอบสวนภายหลัง เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิใช่กฎหมายแม้หากมีการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป
ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นบทกำหนดโทษ ดังนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีทางที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตได้ จึงนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ได้อีก จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) หนึ่งในสามคงจำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและสะพายกระเป๋าเข้าไปจอดบริเวณลานจอดรถสถานีรถไฟนครราชสีมา แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและตรวจค้นในกระเป๋าสะพายพบเมทแอมเฟตามีนห่อด้วยกระดาษสา 20 มัด รวมเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด น้ำหนัก 4,132.580 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 432.070 กรัม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังฟ้องโจทก์หรือไม่… เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมากถึง 40,000 เม็ด และมีราคาซื้อขายถึง 1,300,000 บาท นับว่ามีปริมาณและมูลค่ามากมายเกินกว่าที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเสาะแสวงหามาเพื่อใช้เป็นหลักฐานยัดเยียดความผิดแก่จำเลยทั้งสอง ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตรมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและนายทหารพระธรรมนูญรับรู้ตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงชั้นสอบสวน จึงยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสองโดยปราศจากมูลความจริง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อจะไปซ่อมรถให้นายอ๋อยซึ่งจอดเสียอยู่บริเวณนั้น และนางพิมพาหรือหนุ่ย พันธุ์ดี ภรรยาของนายอ๋อยฝากกระเป๋าสะพายไปให้นายอ๋อมด้วย โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกระเป๋าดูจึงไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในกระเป๋าดังกล่าว จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจึงทราบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนนั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล เพราะผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่เช่นนี้คงจะไม่มอบหมายให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากและมีมูลค่าสูงเช่นนี้ไปมอบให้ผู้อื่นในที่สาธารณะซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่ความลับจะรั่วไหลจนอาจล่วงรู้ไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจได้ หรือมิฉะนั้นเมทแอมเฟตามีนจำนวนนั้นอาจสูญหายไปก็ได้ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ซึ่งต้องกระทำการต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบและเป็นความลับอย่างยิ่งยวด ทั้งปรากฏว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีรถยนต์ของนายอ๋อยจอดเสียอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เตรียมเครื่องมือในการซ่อมรถไปด้วย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พันตรีวิษณุ ณ บางช้าง มิได้ไปร่วมฟังการสอบสวนตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2498 ข้อ 26 ทวิ แต่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกร่วมฟังการสอบสวนภายหลัง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่กฎหมาย แม้หากมีการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นช่างซ่อมรถจะไปตรวจดูรถของนายอ๋อยคันที่เสียก่อน จึงไม่ได้นำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจหรือซ่อมรถติดตัวไปนั้น เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสอนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ให้การเช่นนี้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้เชื่อถือได้ และไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่านั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นบทกำหนดโทษ กรณีจึงไม่มีทางที่ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตได้ จึงนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เท่านั้น จึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม). 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share