คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), 102 และริบรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บต 3886 กาญจนบุรี ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บต 3886 กาญจนบุรี ของกลาง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนรถยนต์กระบะของกลางให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลย นายสัมพันธ์ มุราชวงษ์ และนายสมศักดิ์ มณีแสง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 และให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง นายสัมพันธ์และนายสมศักดิ์ในการรับสารภาพ ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ให้การปฏิเสธเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายสัมพันธ์กับนายสมศักดิ์ตามฟ้อง และริบรถยนต์กระบะของกลางตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีใหม่ โดยขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์กระบะของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามฟ้องและสั่งริบรถยนต์กระบะของกลางตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4784/2546 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 วันที่ 21 กันยายน 2547 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์กระบะของกลางภายใน 1 ปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ เห็นว่า การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share