คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ.บุตรอาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของบิดามารดา ครั้นบิดาตายที่ดินแปลงนั้นในส่วนที่เป็นสินสมรสของบิดาก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทซึ่งมี จ.รวมอยู่ด้วย การที่จ. อยู่ในที่ดินมรดกนับแต่นั้นมาได้ชื่อว่าเป็นการอยู่การครอบครองของทายาทในทรัพย์มรดก ซึ่งยังมิได้แบ่งกันตามมาตรา 1748 แล้ว โดยไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกมีโจทก์จำเลยกับคนอื่นรวม 10 คนเป็นทายาท คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามส่วน หากขัดข้องก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยหรือมิฉะนั้นให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง 4 คนๆ ละ 17,433.33 บาท ดังนี้ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้เอาที่ดินและบ้านอันเป็นมรดกมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วน และว่าถ้าแบ่งไม่ตกลงก็ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดทรัพย์ที่จะต้องแบ่ง (โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ก็ได้)

ย่อยาว

คดี 2 สำนวน ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 50 ปีมาแล้ว นางเปียจำเลยกับนายเส็งสมรสกันโดยต่างมีสินเดิม เกิดบุตร 9 คน คือ โจทก์ที่ 1 – ที่ 4 จำเลยที่ 1 – ที่ 3 กับนางทองเปลว และนายประสิทธิ มีสินสมรสคือ ที่ดินโฉนดที่ 1370 ราคา 211,500 บาท กับบ้านเลขที่ 3 ราคา 30,000 บาทและเลขที่ 3/3 ราคา 20,000 บาท นายเส็งตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมสินสมรสจึงตกเป็นมรดก 2 ใน 3 ทายาททั้ง 10 คน (คือทั้งนางเปียจำเลยด้วย) ได้ครอบครองมรดกร่วมกันมาโดยยังมิได้แบ่งกัน ต่อมานางเปียยื่นคำร้องขอรับมรดกแต่ผู้เดียว เจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนให้ แล้วนางเปียได้จดทะเบียนยกเรือนและที่ดินมรดกนี้ให้แก่จำเลยที่ 1, 2, 3 โดยไม่สุจริต ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนรับมรดกของนายเส็ง เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นมรดกของนายเส็ง ให้จำเลยแบ่งที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นมรดกของนายเส็งให้โจทก์ทั้ง 4 คนละ 28 1/5 ตารางวา กับสิ่งปลูกสร้างตามส่วน หากขัดข้องก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ทั้ง 4 คนละ 17,433.33 บาท

จำเลยให้การต่อสู้ว่า สินสมรสคงมีแต่ที่ดินโฉนดที่ 1370 กับเรือนเลขที่ 3 รวมราคา 241,500 บาท หักเป็นสินเดิมนางเปียแล้วเหลือสินสมรสเป็นของนายเส็ง 80,500 บาท หักค่าทำศพแล้วส่วนของนายเส็งเหลือเป็นมรดก 47,500 บาท โจทก์จำเลยและบรรดาบุตรธิดายอมให้นางเปียรับเอามรดกคนเดียวและครอบครองมากว่า 2 ปี โจทก์ที่ 1, 4 ไม่เคยเกี่ยวข้อง ส่วนโจทก์ที่ 2, 3 ก็อยู่ในที่มรดกโดยอาศัยสิทธินางเปีย จึงฟ้องไม่ได้เพราะขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้องคดีของตน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เอาที่ดินโฉนดที่ 1370 กับบ้านเลขที่ 3แบ่งเป็น 3 ส่วน เป็นมรดกของนายเส็ง 2 ส่วน มรดกของนายเส็งนี้ให้แบ่งเป็น 10 ส่วน ให้โจทก์ที่ 1, 3, 4 ได้คนละ 1 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ตกลงก็ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาด

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า

ข้อที่ว่า โจทก์ที่ 3 อาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินรายพิพาทก่อนนายเส็งตายเมื่อนายเส็งตายแล้ว โจทก์ที่ 3 มิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการอาศัยมาเป็นสิทธิครอบครองทรัพย์มรดก แสดงว่าโจทก์ที่ 3 มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกเพื่อตนนั้นบทบัญญัติการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 นั้นเป็นบทบัญญัติเพื่อให้ผู้ยึดถือทรัพย์สินได้ไปซึ่งทรัพย์สิทธิที่เรียกว่าสิทธิครอบครอง โดยการยึดถือครอบครองเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของเดิมผู้ทรงสิทธิแต่ในกรณีนี้ โจทก์ที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน(ทรัพย์มรดกของนายเส็ง) ที่ตนยึดถือครอบครองนั้น โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมรดกนับแต่ขณะนายเส็งตายนั้นแล้วโดยมิต้องอาศัยการยึดถือครอบครองเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของเดิมแต่อย่างใด เป็นการอยู่การยึดถือครอบครองของเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยตนเองเพื่อตนเองโดยอำนาจกฎหมาย หาต้องอาศัยการบอกกล่าวตามมาตรา 1381 ไม่การอยู่การยึดถือครอบครองของโจทก์ที่ 3 จึงได้ชื่อว่าเป็นการอยู่การครอบครองของทายาทในทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันตามมาตรา 1748 แล้ว

ข้อฎีกาที่ว่า คำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง 4 คนคนละ 17,403.32 บาท แต่ศาลล่างมิได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์นั้น เห็นว่าคำฟ้องขอบังคับให้แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามส่วนด้วย ไม่ใช่ขอให้จำเลยใช้เงินแต่อย่างเดียว ส่วนจำนวนเงินนั้นก็ปรากฏว่าเป็นเพียงการประมาณ และโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกากันในข้อส่วนแบ่ง จำเลยคงฎีกาแต่ว่าศาลมิได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินซึ่งเป็นการง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขายโดยประมูลกันหรือทอดตลาด เรื่องนี้เห็นได้ว่าศาลล่างพิพากษาบังคับการแบ่งทรัพย์สินตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งใช้แทนการแสดงเจตนาตกลงของคู่กรณีในเมื่อเจ้าของรวมทั้งหลายมิได้ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร ไม่มีเหตุสมควรแก้ไขคำพิพากษาศาลล่าง

พิพากษายืน

Share