คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1575/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกบัตรสำหรับค่าแรงทำงานให้แก่โจทก์แทนการจ่ายเป็นธนบัตรรัฐบาลนั้น จะผิดกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยผู้ออกบัตร ไม่เกี่ยวกับโจทก์ แต่บัตรนั้นย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ตามจำนวนเงินในบัตร เมื่อโจทก์นำบัตรมาขอขึ้นเงินกับจำเลย และจำเลยออกใบรับฝากให้ ใบรับฝากเงินนั้นย่อมเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ และใบรับฝากเงินนี้ก็มิใช่ใบรับเงินซึ่งจะต้องเสียอากรตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างไร
หนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้นผู้ทรงตราสารชอบที่จะยื่นตราสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากรเมื่อใดก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อนุมัติให้เสียอากรและเรียกเงินเพิ่มอากรตามกฎหมายแล้ว ตราสารนั้นย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นช่างฟิตเครื่องยนต์ประจำเหมืองแร่ของจำเลย ให้ค่าจ้างเดือนละ 1,200 บาท ชำระในวันสิ้นเดือนโดยวิธีหักค่าซื้อเชื่อเครื่องอุปโภคบริโภคจากร้านค้าของจำเลยก่อน เหลือเท่าใดชำระให้โจทก์ตลอดมา แต่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์นับแต่ พ.ศ. 2500 ถึง 2503 รวมเป็นเงิน 38,042.70 บาท โดยจำเลยทำใบรับฝากเงินให้โจทก์ยึดถือไว้บางส่วน และลงบัญชีของจำเลยไว้บางส่วน โจทก์ทวงถาม จำเลยผัดผ่อนไม่สิ้นสุด ครั้น17 สิงหาคม 2503 โจทก์จำเลยร้องขอให้นายอำเภอจอมบึงเปรียบเทียบในที่สุดจำเลยบันทึกรับรองเป็นการรับสภาพหนี้ไว้ต่อนายอำเภอว่ายังเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน 38,042.70 บาท ขอผ่อนชำระเดือนละ3,000 บาท โจทก์ไม่ยอมให้ผ่อน จึงนำคดีฟ้องขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า ทำใบรับฝากเงินให้โจทก์ไว้รวมทั้งสิ้น27,827.10 บาท นอกนั้นไม่ติดค้างกัน โจทก์จำเลยตกลงว่าโจทก์ขอรับเอาเดือนละ 1,000 บาท บันทึกขออำเภอไม่ใช่สัญญาประนีประนอม จำเลยมีหนังสือบอกล้างแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 38,042.70 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำหน้าที่ช่างฟิตเครื่องยนต์ประจำเหมืองแร่ของจำเลย เดิมให้เงินเดือน ๆ ละ 1,200 บาท ต่อมาปี พ.ศ. 2503 คิดค่าจ้างเป็นรายวัน ๆ ละ 40 บาทการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างจำเลยมิได้จ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นบัตรใบละ 1 บาท 10 บาท 100 บาทให้แทนเงิน บัตรนี้ใช้ซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคจากร้านค้าของจำเลยได้ หากมีบัตรเหลือใช้ก็นำมาขอขึ้นเงินจากจำเลยได้หรือจำเลยทำใบรับฝากเงินให้ไว้จำเลยทำใบรับฝากเงินให้โจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.3, 4, 5, 6 ต่อมา 17 สิงหาคม 2503จำเลยสาบานตัวให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอจอมบึงว่า ยังเป็นหนี้เงินเดือนหรือค่าจ้างโจทก์อยู่เพียง 38,042.70 บาท ขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ไม่ตกลงกัน โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์อยู่ตามใบรับฝากเงิน4 ฉบับ และตามบัญชีของจำเลยรวม 38,042.70 บาทจริงตามฟ้องส่วนที่จำเลยฎีกาว่า บัตรที่จำเลยออกใช้แทนธนบัตรรัฐบาลเป็นการผิดกฎหมาย เมื่อโจทก์นำบัตรนั้นกลับคืนจำเลยให้จำเลยออกใบรับฝากให้ เท่ากับว่าการรับฝากมิได้มีมูลหนี้ต่อกัน ใบรับฝากเงิน 4 ฉบับของโจทก์จึงเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บัตรที่จำเลยออกให้แก่โจทก์และคนงานในเหมืองของจำเลยนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยผู้ออกบัตร ไม่เกี่ยวกับโจทก์ บัตรที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ตามจำนวนเงินในบัตรเมื่อโจทก์นำบัตรมาขอขึ้นเงินกับจำเลย และจำเลยออกใบรับฝากให้ ใบรับฝากนั้นย่อมเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ที่จำเลยอ้างว่าใบรับฝากเงิน 4 ฉบับมิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่าใบรับฝากเงินมิใช่ใบรับเงินซึ่งจะต้องเสียอากรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 105 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ที่จำเลยฎีกาว่า สารบบความแพ่งที่โจทก์อ้างมิได้ปิดอากรแสตมป์และหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการซึ่งศาลชั้นต้นให้โจทก์รับไปปิดอากรแสตมป์เมื่อเสร็จ การพิจารณาแล้วเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สารบบความแพ่งของอำเภอเป็นเอกสารของทางราชการซึ่งมิได้อยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากรว่าต้องเสียอากร ส่วนหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113 ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ ชอบที่จะยื่นตราสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากรเมื่อใดก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อนุมัติให้เสียอากรและเรียกเงินเพิ่มอากรตามกฎหมายแล้วอย่างเช่นในกรณีของโจทก์นี้ ตราสารนั้นย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลยตามหลักฐานใบรับฝากเงิน 4 ฉบับซึ่งจำเลยทำให้โจทก์ยึดถือไว้เมื่อ พ.ศ. 2502, 2503 นี่เอง ค่าจ้างที่ค้างตามบัญชีจำเลยก็เป็นค่าจ้างที่ค้างในปี พ.ศ. 2502, 2503นอกจากนี้จำเลยยังได้ลงนามในบันทึกคำให้การในสารบบความแพ่งของอำเภอเมื่อ 17 สิงหาคม 2503 ว่ายังเป็นลูกหนี้โจทก์ 38,042.70 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share