แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง โดยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรก มีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก การที่โจทก์เพียงยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่ โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา หนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว
ยอดหนี้ค่าแชร์วงที่สองของโจทก์จำนวนสามหุ้นกับดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคำนวณยอดเงินได้ 119,547.50 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 118,566.16 บาท เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาและกรณีมิใช่การผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 162,334.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 101,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า แชร์วงที่สองโจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมชำระเงินค่าแชร์ภายหลังจากที่โจทก์ประมูลแชร์ได้เป็นเหตุให้แชร์ล้มเลิกไป เมื่อวงแชร์ล้มแล้วมิได้มีการประมูลแชร์อีก โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมส่งเงินค่าแชร์ภายหลังที่ประมูลได้ทำให้จำเลยเสียหาย และคดีนับแต่แชร์ทั้งสองวงล้มถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ (ที่ถูกต้องพิพากษาแก้) ให้จำเลยชำระเงินค่าแชร์วงที่สองให้โจทก์ 118,566.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 77,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 10 มิถุนายน 2542) จนกว่าชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมแชร์วงที่สองระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองศาลให้เป็นพับ และยกอุทธรณ์โจทก์สำหรับแชร์วงแรก คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์สำหรับแชร์วงแรกทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก โดยวินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องแยกคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรกมีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก นั้น โจทก์เพียงแต่ยื่นคำแก้ฎีกาในทำนองว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคดีนี้ใหม่โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในประเด็นดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า หนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า แชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่า หนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยให้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ยอดหนี้ค่าแชร์วงที่สองของโจทก์จำนวนสามหุ้นกับดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคำนวณรวมยอดเงินได้ 119,547.50 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 118,566.16 บาท เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาและกรณีมิใช่การผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.