คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2722/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามคำสั่งศาล แล้วนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนการได้มาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 แต่ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 5087 ที่ได้ออกโฉนดมาตั้งแต่ปี 2496 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสายจนถึงโจทก์ โดยโจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2532 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การได้มาของจำเลยเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และในขณะที่จำเลยได้มาโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5087 จากเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว แต่จำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองได้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 ต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่นับแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท เมื่อยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว (เมือง) จังหวัดสมุทรสาคร และห้ามมิให้จำเลยอาศัยคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔๗/๒๕๓๔ เรื่องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์ออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว (เมือง) จังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว (เมือง) จังหวัดสมุทรสาคร ในปี ๒๕๑๙ บิดาจำเลยได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ ให้จำเลย จำเลยเข้าครอบครองโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ โดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อปี ๒๕๓๔ หลังจากซื้อที่ดินแล้วโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ ในปี ๒๕๓๗ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลย จำเลยคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจึงยกเลิกการรังวัดสอบเขต จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ จำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๓๘) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ โดยซื้อมาจาก ป. เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๒ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔๗/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ และจำเลยนำคำสั่งศาลดังกล่าวไปจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๕ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ หรือไม่ เห็นว่า… พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนัก ดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ ได้ออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ จึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ หาใช่เป็นที่ดินคนละแปลงตามที่จำเลยอ้างไม่ เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ ได้มีการออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสายจนถึง ป. และ ป. ได้จดทะเบียนขายให้โจทก์เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๒ โจทก์จึงมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖ ว่ากระทำการโดยสุจริต และเมื่อเป็นการซื้อขายจึงย่อมมีค่าตอบแทน แม้จำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ โดยคำสั่งศาลเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ แต่ก็เป็นการได้มาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ โดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อการได้ที่ดินของจำเลยดังกล่าวเป็นการได้มาทางอื่นนอกจากนิติกรรมและในขณะที่ได้มาโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ จากเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว แต่จำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ได้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ ต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่นับแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท เมื่อยังไม่ครบ ๑๐ ปี จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๘๗ เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๓๘ อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share