แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นคำสั่งในหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมจำเลย ทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 มาตรา 87 วรรคท้าย ก็บัญญัติอีกว่า ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าวให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น บทบัญญัติใดที่กำหนดเงื่อนไขให้บุคคลดังกล่าวต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าต้องเป็นกรณีกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้น บทบัญญัติ มาตรา 41(4)ที่ให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จึงหมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบโดยจงใจและไม่มีพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบ เมื่อโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทนายจ้างยกเลิกการส่งเงินสมทบแทนโจทก์ และโจทก์ไม่ได้จงใจไม่ส่งเงินสมทบทั้งไม่มีพฤติการณ์ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบ ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 41(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535 เนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 จำเลยรับโจทก์เป็นผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2536โดยกำหนดให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เนื่องจากบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการตอบแทนพนักงานเกษียณอายุที่ใช้ความรู้ความสามารถปฏิบัติงานตลอดมาโดยบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ออกเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยแทนโจทก์ตลอดมาตั้งแต่เริ่มเป็นผู้ประกันตามมาตรา 33 และการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โจทก์ไม่เคยนำส่งเงินสมทบด้วยตนเอง ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2542กองเงินสมทบซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยได้มีหนังสือที่ รส 0704/0971ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 แจ้งว่าโจทก์ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542จึงสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2541 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลย ขอให้โจทก์กลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อไป จำเลยได้มีคำวินิจฉัยที่ 867/2542 ลงวันที่ 5พฤศจิกายน 2542 ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน โจทก์ไม่ได้นำส่งเงินสมทบเนื่องจากโจทก์ไม่ทราบว่าบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกการนำส่งเงินสมทบให้โจทก์นำส่งเงินสมทบต่อกองทุนประกันสังคมเองโจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งยกเลิกฉบับดังกล่าว การขาดส่งเงินสมทบจึงเป็นพฤติการณ์พิเศษอันมิได้เกิดจากความผิดของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ รส 0704/0971 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จำเลยที่ 867/2542 และให้จำเลยรับโจทก์เป็นผู้ประกันตนต่อเนื่องจากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) แต่ได้สิ้นสภาพการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535 เนื่องจากครบเกษียณอายุ หลังจากนั้นโจทก์ได้เป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 และเดิมบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)เป็นผู้ส่งเงินสมทบแทนโจทก์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบการยกเลิกการนำส่งเงินสมทบ ให้โจทก์นำส่งเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 หนังสือแจ้งฉบับดังกล่าวส่งถึงภูมิลำเนาโจทก์และมีผู้รับแทนโดยชอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ขาดส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 รวมระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน กองเงินสมทบจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542แจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1ธันวาคม 2541 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ขอให้พิจารณารับโจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อไป คณะกรรมการอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์ โดยเห็นว่าที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ทราบหนังสือแจ้งการยกเลิกการส่งเงินสมทบเนื่องจากผู้รับหนังสือแทนมีสติไม่สมประกอบนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับหนังสือแทนสามารถตอบคำถามเข้าใจได้ดีมีอายุเกิน 20 ปี อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่พฤติการณ์ที่จำเป็นที่จะขยายระยะเวลาและดำเนินการนำส่งเงินสมทบได้ตามมาตรา 66แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539เมื่อโจทก์ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย การที่โจทก์เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และต่อมาการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงเนื่องจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ถ้าโจทก์ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39 โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนดการที่นายจ้างส่งเงินสมทบแทนโจทก์นั้น ไม่ทำให้หน้าที่ในการส่งเงินสมทบของโจทก์สิ้นสุดลงไปแต่ประการใด กรณีนายจ้างของโจทก์หยุดส่งเงินสมทบถ้าโจทก์ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบต่อไปด้วย เมื่อขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกการส่งเงินสมทบแทนโจทก์ให้โจทก์ทราบก่อนที่จะมีการยกเลิก และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ทราบถึงการยกเลิกดังกล่าวหรือมีเจตนาจงใจไม่ส่งเงินสมทบจนเป็นเหตุให้ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ต้องสิ้นสุดลง พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้ว่า การที่โจทก์ขาดส่งเงินสมทบเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้เพราะมีพฤติการณ์ที่จำเป็นอันมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์ มีเหตุอันควรขยายระยะเวลาให้โจทก์ได้ดำเนินการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับเดือนที่ขาดส่งให้ครบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 มาตรา 66 และให้โจทก์คงมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนต่อเนื่องจากเดิม พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ รส 0704/0971ที่ให้โจทก์สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 867/2542 ให้จำเลยรับโจทก์เป็นผู้ประกันตนต่อเนื่องจากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 โดยขยายระยะเวลาให้โจทก์ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับเดือนที่ยังขาดส่งให้ครบภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยไม่ได้เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ออกคำสั่งตามฟ้อง การสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นผลของกฎหมายโดยตรง จำเลยไม่จำต้องมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัย จำเลยไม่ได้ทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตนรวมถึงการสิ้นสุดของความเป็นผู้ประกันตนที่เป็นปัญหาพิพาทในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนต่อจำเลยตามมาตรา 39ว่าหากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86 ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยให้ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้ายมีว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้งภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป ตามมาตรา 39 และจำเลยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 ส่วนบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนของโจทก์ในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เมื่อบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)ไม่นำส่งเงินสมทบให้แก่กองทุน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ขาดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนรวมเป็นเวลา 3 เดือน ติดต่อกัน กรณีไม่ใช่พฤติการณ์ที่จำเป็นอันมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์ โจทก์จะอ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539มาตรา 66 ไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ออกมาใช้บังคับโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตราใดที่กำหนดเงื่อนไขให้บุคคลดังกล่าวต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าต้องเป็นกรณีกระทำโดยเจตนาเท่านั้น มาตรา 41(4) ที่บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จึงหมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบโดยจงใจและไม่มีพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ยกเลิกการส่งเงินสมทบแทนโจทก์ และโจทก์ไม่ได้จงใจไม่ส่งเงินสมทบทั้งไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 41(4)ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน