คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 189 ฐานช่วยเหลือผู้อื่นให้ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเรื่องนอกฟ้องและโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจึงลงโทษตามมาตรา 189 ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 189 และ 191 เนื่องจากโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยหลังจับกุมก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 ได้ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีและใช้อาวุธปืนเข้าลักษณะฉกรรจ์ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน การกระทำของจำเลยไม่เข้าลักษณะฉกรรจ์และพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนั้น ปัญหาว่า จำเลยมีหรือใช้อาวุธปืนในการขู่เข็ญเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุลักษณะฉกรรจ์เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อนายบุญสืบพบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย อันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้านนางวิน และนางวินรับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของนางวินไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น นายบุญสืบไม่มีอำนาจที่จะจับนางวินโดยไม่มีหมายจับได้ การที่นางวินตามนายบุญสืบมาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าไม้และรับนางวินขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป นายบุญสืบติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและนายบุญสืบ ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวางนายบุญสืบซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3743/2529 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษ โจทก์ นายบุญสอน ประมาพันธ์ จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ชอบด้วยเหตุและผลแล้ว โจทก์ฎีกาต่อมาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือหลังจับกุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 ศาลอาจลงโทษจำเลยไปได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ฐานช่วยเหลือผู้อื่นให้ไม่ต้องรับโทษซึ่งเป็นเรื่องนอกฟ้องและโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจึงลงโทษตามมาตรา 189 ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 และ 191 เนื่องจากโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยหลังจับกุมก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ได้ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share