คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ ในวันเดียวกันโจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ม. จำนวนเงิน400,000 บาท ตรงกับที่ระบุในสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 แม้ในการรับเงินตามเช็คนั้น จะไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ลงไว้ในเช็คในฐานะผู้รับเงินก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในสลิป ลูกหนี้เงินโอนซึ่งมีข้อความระบุเลขที่เช็คและจำนวนเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ได้รับไปจากโจทก์ ทั้งเช็คนั้นก็เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือและในวันเดียวกันนั้นธนาคารก็ได้เงินจำนวน 400,000 บาท ตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คไปแล้ว ดังนี้ข้อเท็จจริงบ่งชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จำนวน 400,000 บาทตามเช็คฉบับดังกล่าวไปแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท มีจำเลยที่ 3เข้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นับแต่กู้ยืมไปจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยเลย โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็เพิกเฉย รวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน55,542.50 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 455,542.50 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของเงินต้น 400,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ไม่เคยทำสัญญากู้ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เคยยืมเงินจากโจทก์โดยวิธีแลกเปลี่ยนเช็คโดยจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ สั่งจ่ายเงินลงวันที่ 26 ธันวาคม2526 จำนวน 400,000 บาท แลกเงินสดจากโจทก์ไปและโจทก์หักดอกเบี้ยไว้แล้ว เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ได้รับเงินตามเช็คไปจากธนาคารแล้วโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงไม่มีหนี้ต่อกันอีกการกู้ยืมเงินดังกล่าวโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ โดยโจทก์แจ้งว่าเพื่อให้แสดงต่อธนาคารแห่งประเทศไทย สัญญากู้ตามฟ้องจึงเป็นสัญญาปลอม
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ลงลายมือชื่อ และประทับตราห้างจำเลยที่ 1 ในช่องผู้กู้ในสัญญากู้ และในช่องผู้รับเงินในสลิปลูกหนี้เงินโอน ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้จำนวน 400,000 บาทที่จ่ายเเป็นเช็คไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 3ภริยาจำเลยที่ 2 ลงลายมือในสัญญาค้ำประกันปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6,จ.7 และ จ.8 ตามลำดับ คดีมีปัญหาตามฎีกาข้อแรกของจำเลยทั้งสามว่าสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ตั้งใจทำขึ้นให้มีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหรือตั้งใจทำขึ้นเพียงเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไว้แก่โจทก์นั้น … รูปคดีฟังได้ว่าสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตั้งใจทำขึ้นให้มีผลบังคับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้จากโจทก์ ในข้อนี้โจทก์มีนางสาวอุไรวรรณ เจริญสุขวิวัฒน์ สมุห์บัญชีบริษัทโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า เมื่อทำสัญญาเสร็จ จำเลยที่ 1ได้รับเงินไปตามที่กู้โดยรับไปเป็นเช็ค ตามสลิปลูกหนี้เงินโอนเอกสารหมาย จ.7 ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินโดยอ้างเช็คธนาคารมหานคร สำนักงานใหญ่ เลขที่ 576361 ตามที่ระบุในเอกสารหมายจ.7 เป็นพยาน และธนาคารได้ส่งสำเนาภาพถ่ายมาซึ่งศาลรับไว้เป็นเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏว่าเช็คฉบับดังกล่าวลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2526 วันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์และเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือเป็นจำนวน 400,000 บาท ตรงกับที่ระบุในสัญญากู้ จากรอยตราที่ประทับและข้อความที่จดแจ้งไว้ในเช็ค แสดงว่าผู้ทรงเช็คได้เบิกเงินสดและรับเป็นแคชเชียร์เช็คไปจากธนาคารในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526นั้นเอง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในการรับเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.1นั้นจะไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ลงไว้ในเช็คในฐานะผู้รับเงินก็ตาม แต่ในเมื่อจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในสลิปลูกหนี้เงินโอนเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีข้อความระบุเลขที่เช็คและจำนวนเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ได้รับไปจากโจทก์ทั้งเช็คนั้นก็เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และในวันเดียวกันนั้นธนาคารก็ได้จ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท ตามเช็คนั้นให้แก่ผู้ทรงเช็คไปแล้วเช่นนี้ จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเช็คมาและไม่ได้นำไปเบิกเงินหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวบ่งชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จำนวน 400,000 บาท ตามเช็คฉบับดังกล่าวไปแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share