คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2คำว่า “เจ็บป่วย” หมายความว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดจากการทำงานตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวให้คำนิยามของคำว่า”เจ็บป่วย” ไว้เช่นนั้นก็เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ฉะนั้นเมื่อคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลย แต่เรียกเงินค่ารักษาพยาบาลตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า กรณีลูกจ้างป่วยไม่ว่าเนื่องจากการทำงานหรือไม่จำเลยก็จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ จำเลยต้องจ่ายตามข้อตกลงเช่นว่านั้น ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยถึงหลักกฎหมายที่ว่า การเจ็บป่วยของโจทก์เกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 7,700 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้างในเดือนมิถุนายน 2532จำนวน 7,700 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 1,796 บาท โจทก์เจ็บป่วยต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล เสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน18,413 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาทขอให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,700 บาทค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาทค่าจ้างค้างจ่าย 7,700 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี1,796 บาท ค่าชดเชย 23,100 บาท ค่ารักษาพยาบาล 18,413 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยยังไม่ครบกำหนดหนึ่งปี จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์เจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ใช่เนื่องจากการทำงานให้จำเลยหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน จำเลยไม่ต้งจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงาน พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์เป็นค่าเสียหาย25,000 บาท ค่าชดเชย 23,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า7,700 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,796.66 บาทค่ารักษาพยาบาล 13,413 บาท รวมเป็นเงิน 71,009.66 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 กรกฎาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ป่วยด้วยโรคไตได้ขอลาป่วยไปตรวจรักษาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2523 เป็นต้นไปหลังจากนั้นโจทก์ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 และพักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไปจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2532 เป็นการฟังข้อเท็จจริงว่าตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2523เป็นต้นไปนั้น โจทก์ป่วยด้วยโรคไตอยู่ในระหว่างเตรียมตัวเข้าผ่าตัดรักษาและพักรักษาตัวหลังการผ่าตัดโจทก์ไม่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร อุทธรณ์ข้อ 2 ก.ข. ของโจทก์อ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่าโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เกี่ยวกับอายุงานของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายว่าจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2531 ตามเอกสารหมาย จ.1 ต้องถือว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 โจทก์ทำงานกับจำเลยภายหลังการจดทะเบียนนิติบุคคล โจทก์จึงมีอายุงานไม่ครบ 1ปีนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7มีนาคม 2531 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำและศาลแรงงานกลางก็ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2531ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติดังกล่าว ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์มีสภาพเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2531 ไม่อาจเป็นนายจ้างของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2531 นั้น แม้จำเลยให้การต่อสู้มาแต่ต้น แต่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์เรื่องค่ารักษาพยาบาลต่อไปว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2 คำว่า “เจ็บป่วย” หมายความว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด การเจ็บป่วยของโจทก์ไม่เกี่ยวกับการทำงานนั้น เห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวให้คำนิยามของคำว่า “เจ็บป่วย” ไว้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลย แต่เรียกเงินค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติว่า กรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยไม่ว่าเนื่องจากการทำงานหรือไม่ จำเลยก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยตามหลักกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้างอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาเกี่ยวกับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าโจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วัน และเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 1,796 บาท พออนุโลมได้ว่า โจทก์เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนมา 7 วัน เป็นเงิน 1,796 บาท แม้คำนวณโดยถูกต้องแล้วจะเป็นเงิน1,796.66 บาท แต่ตามคำขอของโจทก์เรียกร้องเพียง 1,796 บาทศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 1,796.66 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้โดยตรงแต่ก็ได้อุทธรณ์ในเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีมาด้วยศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์เป็นเงิน 1,796 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share