คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
เงินภาษีและเงินเพิ่มที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์ฉบับแรก แม้เจ้าพนักงานประเมินจะได้มีคำสั่งแจ้งการประเมินเพิ่มเติมอีก ก็หาใช่เป็นผลจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่างหาก แต่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับแรกนั้นเอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกในคดีก่อนและคดีอยู่ระหว่างพิจารณา การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับหลังซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน แม้คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะเป็นคนละคำสั่ง ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยอ้างว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินออกแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มเกี่ยวกับภาษีเดิมที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ให้ไปเสียเพิ่มและยังได้เรียกเงินเพิ่มจากโจทก์อีกโดยไม่มีการออกหมายเรียกหรือให้โจทก์ชี้แจงส่งหลักฐานเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติม เพราะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิใช่เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่มีอำนาจประเมินภาษีตามกฎหมายคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะยกเรื่องนี้ขึ้นประเมินเองในประเด็นใหม่นอกเหนือไปจากรายการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บไว้เดิมแล้วไม่ได้ คำสั่งให้เสียภาษีเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยให้การว่า คำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเพราะเป็นการออกคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการประเมินภาษีที่ได้ออกหมายเรียกและให้โอกาสโจทก์ชี้แจงแล้ว เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดิมที่เจ้าพนักงานประเมินได้วินิจฉัยและโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งไว้แล้ว หาใช่เป็นเรื่องยกประเด็นใหม่ขึ้นวินิจฉัยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ส่วนนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยไว้แล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 3793/2525 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าในประเด็นข้อที่ว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3793/2525 และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 (1) และเห็นว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 3793/2525 ของศาลแพ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ต.2/1037/2/03304 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภส.7 เลขที่ 206/2524 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสั่งให้โจทก์ใช้เงินภาษี และเงินเพิ่ม 1,729,406.15 บาทไปชำระ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ต.6/1037/2/03888 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภส.7 เลขที่ 240/2525 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสั่งให้โจทก์ใช้เงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน78,210 บาท 44 สตางค์ ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีหมายเลขดำที่ 3793/2525 ของศาลแพ่ง ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน และวินิจฉัยว่าแบบคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ ต.6/1037/2/03888 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภส.7 เลขที่ 240/2525 เกี่ยวกับเงินภาษีและเงินเพิ่มรวม 78,210 บาท 44 สตางค์ ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในเบื้องแรกว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 3793/2525 ของศาลแพ่งหรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นว่าคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้ได้เป้นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลย อ้างว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยได้ทำการตรวจสอบพบว่าโจทก์ได้นำรายจ่ายที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) (13) และ (19) แห่งประมวลรัษฎากร มาถือเป้นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงได้ทำการปรับปรุงกำไรสุทธิแล้วมีคำสั่งให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม รวมทั้งเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,801,315.32 บาท ปรากฏตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ ต.2/1037/2/0334 ลงวันที่30 พฤษภาคม 2523 และต่อมาเมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ลดเงินเพิ่มลง 150,109.61 บาท และให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมจากคำสั่งเจ้าพนักงานประเมิน รวมเงินเพิ่มเป็นเงิน 78,210.44บาท รวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 1,729,416.15 บาทไม่ชอบ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสั่งให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่ม 1,729,416.15 บาทไปชำระ เงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ขอให้เพิกถอนในคดีก่อนนั้น เฉพาะส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมจากคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่าโจทก์มีรายจ่ายค่าธรรมเนียมบริหารงาน ซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตาม มาตรา 65 ตรี(19) แห่งประมวลรัษฏากรเป็นเงินทั้งสิ้น 3,798,100 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินคิดรายจ่ายรายการนี้คลาดเคลื่อนต่ำไป300,000 บาท จึงพิจารณาปรับปรุงภาษีใหม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมจากคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินรวมเงินเพิ่มเป็นเงิน 78,210.44 บาทนี้ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกแบบคำสั่ง ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ ต.6/1037/2/03888 ลงวันที่ 26 มกราคม 2525 และแจ้งการประเมินไปยังโจทก์อีกต่างหาก โจทก์จึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภ.ส.7 เลขที่ 240/2525 ลงวันที่ 17 กันยายน 2525ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ต.6/1037/2/03888 ลงวันที่26 มกราคม 2525 ชอบแล้ว โจทก์จึงด้ฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยในคดีนี้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสั่งให้โจทก์ชำระเงินภาษีและเงินเพิ่ม78,210.44 บาท จำเเป็นได้ว่าเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน78,210.44 บาทนี้ ก็คือเงินภาษีและเงินเพิ่มส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยได้ ตามคำวินิจฉัยภ.ส. 7 เลขที่ 206/2525 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2524 แล้วและโจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยในคดีก่อนนั้นเอง แม้เจ้าพนักงานประเมินจะได้มีคำสั่งแจ้งการประเมินเพิ่มเติมอีกตามคำสั่งที่ ต.6/1037/2/03888 ลงวันที่ 26 มกราคม 2524 และโจทก์อ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยฉบับหลังก็ตาม ก็หาใช่เป็นผลจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่างหากแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับแรกนั้นเอง ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 78,210.44 บาท และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอยู่แล้ว โจทก์กลับมาฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้อีก แม้คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคนละคำสั่งดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเพียงวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักกานประเมินชอบหรือไม่เท่านั้นไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมโดยให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล มีคำสั่งถึงโจทก์ที่ต.6/1037/2/03888 ลงวันที่ 26 มกราคม 2525 ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 78,210 บาท 44 สตางค์นั้น เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนเสียแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์ผู้อุทธรณ์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรรวมทั้งประเด็นที่ว่า รายจ่ายค่าธรรมเนียมในการบริหารเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share