คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนำให้จำเลยผู้จำนำเช่าเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 769(2) แห่ง ป.พ.พ. สิทธิจำนำของผู้ร้องจึงระงับสิ้นไปตามมาตราดังกล่าว ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำที่จะร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน35,883,336.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์ โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัด จำเลยยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 13463 ตำบลบางพูนอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร รวม 13 เครื่อง ที่จำนองไว้กับโจทก์ ขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามที่โจทก์ขอ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินต่าง ๆ ของจำเลยรวม 34 รายการ เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำร้องแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 5,867,159 บาท จำเลยได้นำเครื่องจักรตามบัญชีทรัพย์ที่ยึดลำดับที่ 11 ถึง 34 ยกเว้นลำดับที่ 33 ของจำเลยมาจำนวนไว้กับผู้ร้องเพื่อประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท และได้ส่งมอบเครื่องจักรดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้ว แต่จำเลยได้เช่าเครื่องจักรดังกล่าวจากผู้ร้องไปใช้งานต่อไป โดยที่ผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลย และผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์นำยึดไว้ จึงขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนำดังกล่าวจำนวน 5,867,159 บาท มิให้ถูกบังคับชำระหนีแก่เจ้าหนี้อื่น
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน สัญญาจำนำทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการฉ้อฉลเพื่อป้องกันมิให้โจทก์หรือเจ้าหนี้อื่นมีโอกาสบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลย ทั้งผู้ร้องได้ยินยอมให้ทรัพย์ที่จำนำกลับไปสู่การครอบครองของจำเลยแล้ว สัญญาจำนำจึงไม่สมบูรณ์ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจำนำระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลเจ้าหนี้อื่น ๆ ไม่มีผลบังคับ ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่าวนแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจำนำระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลเจ้าหนี้อื่น ๆ ไม่มีผลบังคับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 17เมษษยน 2525 จำเลยจำนำเครื่องจักรตามบัญชีทรัพย์ที่ยึดลำดับที่ 11 ถึง 34 ยกเว้นลำดับที่ 33 ไว้กับผู้ร้อง แล้วผู้ร้องให้จำเลยเช่าเครื่องจักรดังกล่าวกลับคืนไปใช้ในการผลิตสินค้าของจำเลยต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งเครื่องจักรดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยยังมิได้ชำระให้แก่โจทก์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยครอบครองทรัพย์สินของจำเลยที่จำนำไว้กับผู้ร้องโดยอาศัยสิทธิการเช่า ไม่ทำให้การจำนำระงับสิ้นไปผู้ร้องจึงชอที่จะมีสิทธิขอกันส่วนของผู้ร้องได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จำนำให้จำเลยเช่าเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของบทบัญญัติ มาตรา769(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิจำนำของผู้ร้องจึงระงับสิ้นไปตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำที่จะร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ได้”
พิพากษายืน.

Share