คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย ได้โอนขายที่ดินให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ตามมติของคณะกรรมการโจทก์และคณะกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดพร้อมทั้งได้โอนสิทธิเรียกร้องกับหนี้สิน และโอนพนักงานของโจทก์ไปให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ด้วย โดยโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยจำกัด ด้วยกัน แม้จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันแต่ก็มีส่วนได้เสียผูกพันกันอยู่ การโอนที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการโอนอันมีเหตุสมควรเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาต*ลาดในวันที่โอน รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 โจทก์ปรับปรุงโครงสร้างของการประเมินกิจการของโจทก์เพื่อดำเนินกิจการด้านการค้าต่างประเทศจึงโอนกิจการด้านการตลาดภายในประเทศ ทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งพนักงานของโจทก์ให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ ได้ระบุยอดขาดทุนสุทธิไว้ 10 ล้านบาทเศษ เมื่อโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2521 และมียอดยกมาในปี พ.ศ. 2522จำนวน 10 ล้านบาทเศษจริง โจทก์จึงมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิจำนวนนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2522 ได้ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (10)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ปี พ.ศ. 2521 รัฐได้มีนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกเพื่อลดภาวะการขาดดุลการค้าได้ชักชวนและส่งเสริมให้เอกชนประกอบกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน โจทก์ประสงค์จะสนองนโยบายของรัฐเปลี่ยนลักษณะการประกอบกิจการมาเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เปลี่ยนลักษณะการประกอบกิจการจากการค้าวัสดุภายในประเทศมาเป็นการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากโจทก์จะต้องดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ทั้งที่เป็นที่ดิน อาคาร หนี้สินและทรัพย์สินอื่น ๆ และพนักงาน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการค้าระหว่างประเทศออกไป โจทก์จึงโอนกิจการขายภายในประเทศให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ไปดำเนินการรวมทั้งให้รับภาระหนี้สินและรับภาระเกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับให้รับโอนพนักงานที่เกี่ยวข้องไปด้วยโดยให้นับอายุงานติดต่อกันทรัพย์สินที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้คือ ที่ดินโฉนด 13 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา6,542,703.04 บาท ซึ่งเป็นราคาบัญชีในขณะนั้นเป็นการเหมาขายรวมกันไปพร้อมกับทรัพย์สินอื่น ๆ โดยให้ผู้ซื้อรับภาระอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งเป็นการซื้อขายที่มีเหตุผลและเงื่อนไขเป็นพิเศษมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้โจทก์ประกอบกิจการค้าระหว่างประเทศตามนโยบายของรัฐได้อย่างเต็มที่ และเป็นการโอนกิจการให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของโจทก์ในทางพฤตินัยถือได้ว่ามีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นอยู่ด้วยการโอนขายทรัพย์สินในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินมาเป็นเจ้าของคนเดียวกัน มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะโอนขายเพื่อมุ่งค้าหากำไร ดังนั้นราคาของที่ดินที่ซื้อขายเมื่อคิดถัวเฉลี่ยกับราคาทรัพย์สินอย่างอื่นที่ซื้อขายไปพร้อมกันประกอบกับเหตุผลและเงื่อนไขพิเศษ จึงเป็นราคาที่เหมาะสมกับความจำเป็นของโจทก์และของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด แม้ราคาทางบัญชีจะต่ำกว่าราคาตลาดไปบ้าง ก็เป็นราคาขายที่มีเหตุอันสมควร และโดยที่ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522 โจทก์ได้ถูกบุคคลภายนอกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย 256,201.45 บาท แต่โจทก์ไม่มีภาระและหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2522 ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องคืนเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้ถูกหักเอาไว้ และถูกส่งแก่จำเลยไว้แล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522 เป็นเงิน 256,201.45 บาทให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 256,201.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ และเพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต.2/1020/2/01282 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 กับ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ 117/2533/1 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2532
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.2/1020/2/01282 ลงวันที่12 กุมภาพันธ์ 2531 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 117/2533/1ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2532 กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 256,201.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าต้นเงินที่โจทก์ได้รับชำระคืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ขายที่ดินให้แก่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด ตามสัญญาลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2521 ในราคาตามบัญชีซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดนั้น มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า กรณีของโจทก์เป็นที่เห็นได้ว่าการโอนที่ดินที่ขายให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด นั้น หาใช่เป็นเพียงแต่โอนที่ดินดังกล่าวนี้เท่านั้นหากแต่เป็นการโอนกิจการด้านการตลาดภายในประเทศของโจทก์รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ตามราคาที่ปรากฏในบัญชี ณ วันที่ 2 กรกฎาคม2521 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 62,217,272.29 บาท โดยเป็นราคาที่ดินที่ขายเสีย 6,542,703.04 บาท นอกจากนี้ยังมีการโอนสิทธิเรียกร้องและหนี้สินต่าง ๆ อีก และมีรายละเอียดบัญชีลูกหนี้ของโจทก์ที่โอนไปณ วันที่ 1 ตุลาคม 2521 รวมเป็นสินทรัพย์และหนี้สินที่โอนไปถึง 300 ล้านบาทเศษ กับทั้งยังโอนพนักงานของโจทก์อีกกว่า700 คน ไปให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โดยให้นับอายุงานติดต่อกัน เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยปีแรกโจทก์จะต้องส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทปีที่สองไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ปีที่สามกับปีต่อ ๆ ไป ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท โจทก์จึงจำเป็นต้องโอนกิจการของโจทก์ให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เพื่อไปทำกิจการด้านการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศให้ได้ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวและประการสำคัญโจทก์เป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย โดยมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ในขณะนั้นเกือบร้อยละ 70 ของหุ้นจดทะเบียนทั้งสิ้น 120,000,000 บาท ดังนั้นจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการที่โจทก์โอนทรัพย์สินและหนี้สินให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดรวมทั้งสิ้นคิดเป็นเงินถึง 300 ล้านบาทเศษก็เป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยด้วยกันแม้จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แต่ก็มีส่วนได้เสียผูกพันกันอยู่ ดังนั้นการโอนที่ดินที่ขายจึงเป็นการโอนโดยมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาต*ลาดในวันที่โอนและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้ถือเอาราคาตามที่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินไว้นั้นมาประเมินที่ดินที่ขายได้เช่นกัน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ
กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 โจทก์ไม่มีผลขาดทุนสุทธิสะสมที่จะนำมาหักออกจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522 โจทก์อ้างและนำสืบว่าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิเป็นเงิน 18,887,629.54 บาท เห็นว่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2521 เป็นปีที่โจทก์ปรับปรุงโครงสร้างของการประกอบกิจการของโจทก์ครั้งใหญ่เพื่อดำเนินกิจการด้านการค้าต่างประเทศจึงโอนกิจการด้านการตลาดภายในประเทศ ทรัพย์สินและหนี้สินรวมทั้งพนักงานของโจทก์ให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการดำเนินกิจการของโจทก์และจากรายงานประจำปี พ.ศ. 2521 ของโจทก์ระบุว่างบดุลวันที่ 31 ธันวาคม 2521 ขาดทุนสะสม 12,417,591 บาทยกไปปี พ.ศ. 2522 และในรายงานดังกล่าวยังระบุงบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2521 ว่าขาดทุนสะสมสิ้นปีจำนวน 12,417,591 บาท ดังนั้นในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2521 โจทก์ได้ระบุยอดขาดทุนสุทธิไว้จำนวน 10,757,180.17 บาทปรากฎตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 73 เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 และมียอดยกมาในปี พ.ศ. 2522 จำนวน10,757,180.07 บาท โจทก์จึงมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2522 ได้ตามความในประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(12)
พิพากษายืน

Share