คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3305/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งอันจะถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะคำสั่งที่สั่งก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ ขาดตัดสินคดีอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเท่านั้น แม้ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ ขาดตัดสินคดีอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว เมื่อจำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อมีคำสั่งชี้ ขาดตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่อีก คำสั่งในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวก่อนมีคำสั่งชี้ ขาดตามคำขอนั้น ย่อมเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกัน หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาชี้ ขาดตัดสินในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ ในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำแถลงของจำเลยที่คัดค้านคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ว่าการที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมนั้นเป็นเพราะพยานเป็นเจ้าหน้าที่เดินหมายของศาล แม้โจทก์ไม่อ้างเป็นพยาน ศาลก็ต้องเรียกพยานดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพราะเป็นพยานสำคัญ คำสั่งเช่นนี้เป็นคำสั่งในระหว่างที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ก่อนที่จะมีคำสั่งชี้ ขาดอนุญาตให้พิจารณาใหม่หรือไม่ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ต้องโต้แย้งคัดค้านไว้เมื่อศาลมีคำสั่งในคำแถลงดังกล่าววันเดียวกันกับวันที่จำเลยยื่นคำแถลง ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งในวันนั้น และศาลนัดฟังคำพิพากษาหลังวันมีคำสั่งถึง 2 วัน จำเลยจึงมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำสั่งได้ เมื่อไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าคอมมิชชั้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532 ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 19,500 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 6,500บาท พร้อมดอกเบี้ย และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย กับจ่ายค่าคอมมิชชั่นจำนวน 17,899.20 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 สิงหาคม 2532) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้โจทก์
วันที่ 20 กันยายน 2532 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยมิได้จงใจที่จะไม่มาศาล มิได้จงใจที่จะไม่ให้การต่อสู้คดีและมิได้จงใจที่จะขาดนัดพิจารณาแต่ประการใด แต่เนื่องจากจำเลยมิได้รับหมายด้วยตนเอง และไม่เคยเห็นหรือพบหรือทราบว่าหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ถูกส่งให้แก่จำเลยหรือได้รับไว้โดยวิธีการอื่นเพราะช่วงเวลาดังกล่าว นายธรรมรงค์ จันทร์เพ็ง ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวของจำเลยได้เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อประกอบธุรกิจให้แก่บริษัท จำเลยเพิ่งมาทราบเมื่อเจ้าพนักงานศาลได้นำหมายแจ้งคำบังคับไปปิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน2532 หากจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีแล้วจำเลยจะต้องชนะคดีอย่างแน่นอนเนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลความจริง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอาญาอย่างร้ายแรงต่อจำเลย หากศาลอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ใหม่ จะทำให้จำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ถูกต้อง หรือเป็นไปโดยมิชอบแต่ประการใด คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ จึงขาดหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพราะคดีนี้มีการส่งหมายโดยชอบ โดยนายสุขสวัสดิ์ แซ่จิว พนักงานของจำเลยเป็นผู้เซ็นรับหมายไว้แทน ข้ออ้างที่ว่าไม่ทราบว่าถูกฟ้องเพราะมิได้รับหมายด้วยตนเอง เนื่องจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดย่อมรับฟังไม่ได้ จำเลยอ้างว่าจะชนะคดีโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอาญาอย่างร้ายแรงต่อจำเลยนั้นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย จึงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อหาเหตุที่จะประวิงการบังคับคดีให้เนิ่นนานออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ระหว่างไต่สวนพยานจำเลยในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่ โจทก์ยื่นคำ่ร้องขอยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2532 จำเลยยื่นคำแถลงว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมนั้น เป็นเพราะพยานเป็นเจ้าหน้าที่เดินหมายของศาล แม้โจทก์ไม่อ้างเป็นพยานศาลก็จะต้องเรียกพยานดังกล่าวมาเป็นพยานศาล เพราะถือว่าเป็นพยานสำคัญ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้โดยชอบแล้ว ฟังไม่ได้ว่าผู้จัดการของจำเลยไปธุระต่างจังหวัด ไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ โจทก์เพิ่งยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อจำเลยสืบพยานไปแล้ว มิได้ยื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยไม่อ้างเหตุสมควรประการใดที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งระหว่างพิจารณานั้น มิได้จำกัดไว้เฉพาะคำสั่งที่สั่งก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเท่านั้น แม้ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว เมื่อจำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อมีคำสั่งชี้ขาดตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่อีก คำสั่งในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวก่อนมีคำสั่งชี้ขาดตามคำขอนั้น ย่อมเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกัน คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวภายหลังที่ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว และคำสั่งดังกล่าวนี้เป็นคำสั่งในระหว่างศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งชี้ขาดอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยหรือไม่ ดังนั้น คำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากจำเลยไม่เห็นด้วย และจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็จะต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำแถลงดังกล่าววันเดียวกันกับวันที่จำเลยยื่นคำแถลง ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งในวันนั้น และศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาหลังจากวันมีคำสั่งถึง 2 วัน จำเลยจึงมีโอกาสที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งได้เมื่อไม่โต้แย้งคัดค้านจำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share