คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกระทำในรูปคณะบุคคลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แม้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็มีผลผูกพันกรรมการทุกคนไม่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาวินิจฉัยด้วยหรือไม่ ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทั้งคณะจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัยจำกัด ตำแหน่งผู้จัดการสาขาเมืองพล เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540โจทก์ได้ออกพื้นที่ไปที่หมู่บ้านหนองแวง ได้พบกับนายจ่อยซึ่งเป็นตัวแทนขายประกัน แล้วไปพบนางมนต์ แก้วพรม และเสนอขายประกัน นางมนต์ตกลงทำประกันโดยจ่ายเงินค่าประกัน 12,000 บาท ให้โจทก์ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์ได้เดินทางกลับสำนักงานสาขาเพื่อนำเงินส่งบริษัทนายจ้างระหว่างทางขณะโจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาถึงบริเวณถนนเมืองพลหนองสองห้องได้เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้โจทก์หมดสติในระหว่างเวลาทำงานให้แก่บริษัทนายจ้าง โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินทดแทนพนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่าการประสบอันตรายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยวินิจฉัยเช่นเดียวกันและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยดังกล่าวและพิพากษาว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในทางการที่จ้างของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด นายจ้าง

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะจำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการในกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดอยู่ในสำนักงานประกันสังคม ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้และโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ให้ถือว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่ศาลแรงงานกลางให้รับไว้พิจารณาประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 31มีอำนาจหน้าที่รวมถึงการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายจ้างลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนที่ไม่พอใจคำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการประเมินเงินสมทบของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537มาตรา 32 และมาตรา 52 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงมีผลโดยตรงต่อนายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 53 บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดดังนี้ เมื่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยเสียได้ ปัญหาว่าโจทก์สามารถฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทั้งคณะเป็นจำเลยได้หรือไม่ หรือจะต้องฟ้องเฉพาะตัวกรรมการที่เข้าร่วมประชุมวินิจฉัยเป็นจำเลย ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 29 บัญญัติหลักการไว้ว่าจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนเหมือนคดีแพ่งทั่วไป มาตรา 35 จึงให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเป็นโจทก์ทำคำฟ้องมายื่นต่อศาลเองหรือจะฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้และให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานบันทึกคำฟ้องไว้โดยย่อพอให้เข้าใจว่าคดีมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับอย่างไร คดีนี้ลูกจ้างเป็นโจทก์ทำคำฟ้องยื่นต่อศาลแรงงานกลางด้วยตนเองสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้รับหนังสือของนายสิทธิพล รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไปถึงโจทก์ว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติว่าการประสบอันตรายของโจทก์ไม่ได้เกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และในตอนท้ายของหนังสือฉบับนี้ระบุไว้ด้วยว่าถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย หากไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนด ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดโดยหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวไม่ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ นามสกุลและที่อยู่ของกรรมการแต่ละคนในคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแต่อย่างใดด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าผู้ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไปในทางให้โจทก์เสียหายคือคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเมื่อโจทก์นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานจึงได้ฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทั้งคณะเป็นจำเลย ซึ่งสอดคล้องตามหลักที่ว่าการดำเนินคดีแรงงานจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม หากกำหนดให้โจทก์ต้องฟ้องกรรมการในคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นการเฉพาะตัวบุคคลก็เท่ากับเป็นการบังคับอยู่ในตัวให้โจทก์ต้องเสาะแสวงหาชื่อ นามสกุล และสถานที่อันเป็นภูมิลำเนาของกรรมการทุกคนที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยตนเองทั้งที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนอันเป็นหน่วยงานฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่เคยแจ้งให้ความสะดวกแก่โจทก์แต่ประการใดเลย ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการในการดำเนินคดีแรงงานที่กล่าวมาข้างต้นอีกประการหนึ่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่รัฐแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายและพิพากษาว่า การประสบอันตรายของโจทก์เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันเป็นการฟ้องเพื่อทำลายมติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น มิใช่เป็นการฟ้องลูกหนี้ให้ปฏิบัติชำระหนี้ในมูลหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับคดีแรงงานไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องมีการบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นกรณีต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ว่าโจทก์จำเป็นต้องฟ้องให้ถูกตัวบุคคลที่เป็นลูกหนี้เหมือนคดีแพ่งทั่วไปและคดีนี้ปรากฏว่าในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้กระทำในรูปคณะบุคคลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แม้ชื่อตำแหน่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็ย่อมมีผลผูกพันกรรมการทุกคนไม่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาวินิจฉัยด้วยหรือไม่ ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยในคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share