คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มิได้ขอให้จำเลยชำระเป็นเงินตราไทย ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว เป็นเงินตราไทยหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยจึงยกขึ้นกล่าว ในชั้นอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และตามสัญญาจ้างระบุการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงมีความผูกพันตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ จำเลยอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสิทธิของลูกหนี้ได้โดยลำพัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจกรุงเทพ – เมืองโยฮานเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย และค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๙,๖๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้าง บริษัทหลุยส์เบเยอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับโจทก์เข้าทำงานทันที แสดงว่าโจทก์ไม่เสียหายต่อชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และไม่ขาดรายได้ สัญญาจ้างเลิกกัน แล้วทำให้ข้อตกลงเรื่องจำเลยเป็นฝ่ายจ่ายภาษีเงินได้ตกไป โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบิน ๓,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อตกลง และได้รับค่าชดเชย ๒๘,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๒,๔๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๔,๒๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันฟ้อง ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ๓๙.๙๖ บาท ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน ๑,๗๖๙,๔๒๘.๘๐ บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มิได้ขอให้จำเลยชำระเป็นเงินตราไทย ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษา ให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวเป็นเงินตราไทยหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๖ บัญญัติว่า ” ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน”
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๘ ระบุการจ่ายค้าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงมีความผูกพันตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ จำเลยอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๖ ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของลูกหนี้ได้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๒๘,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๒,๔๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับจำนวน ๓,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ รวม ๔๔,๒๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั้งนี้โจทก์ไม่อาจรับชำระหนี้ได้เกิน ๑,๗๖๙,๔๒๘.๘๐ บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง นอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง .

Share