แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นสถาบันทางการศึกษาที่ก่อตั้งโดยอาศัยความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินกิจการสถาบันเทคโนโลยีทั้งภายในและนอกประเทศไทยบนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร ซึ่งรวมทั้งการดำเนินการกิจการวิทยาลัยโรงเรียนและองค์กรวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันโดยการสอนศึกษาและวิจัยในวิชาวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่น ๆแม้การที่จำเลยรับทำการวิจัยให้แก่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์การอื่น ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินให้จำเลยตามจำนวนที่จำเลยคำนวณเป็นเงินงบประมาณในการทำวิจัยก็ตาม แต่งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันจำเลย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯที่เหลือเป็นค่าจ้างอาจารย์ผู้ทำการวิจัย นักศึกษา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆในการวิจัย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอุปกรณ์ในการวิจัยหากยังมีเงินเหลืออยู่อีกผู้ว่าจ้างก็สามารถรับคืนไปได้หรือจะบริจาคเข้ากองทุนวิจัยของจำเลยซึ่งเป็นกองทุนที่จะนำเงินไปใช้เฉพาะที่เกี่ยวกับงานวิจัยของจำเลยเท่านั้น แสดงว่านอกจากจำเลยจะมีวัตถุประสงค์กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่ามิได้มุ่งแสวงหากำไรแล้วการดำเนินกิจการของจำเลยก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเลยจึงเป็นสถาบันซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานโดยมิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ในเรื่องค่าชดเชยตามกฎกระทรวง(พ.ศ. 2541) ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน458,910 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 45,891 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดในสถาบันจำเลยอันเป็นงานปกติ มิใช่โครงการเฉพาะของจำเลยแม้จะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ แต่จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจเข้ากรณีตามกฎกระทรวงลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 118 ว่าด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมาบังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อีกทั้งก่อนเลิกจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาจ้าง2 ปี และจำเลยเลิกจ้างเมื่อครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญา จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ว่า จำเลยเป็นสถาบันซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นสถาบันทางการศึกษาที่ก่อตั้งโดยอาศัยความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ ตามกฎบัตรของจำเลยกำหนดวัตถุประสงค์ว่าเพื่อการดำเนินการสถาบันเทคโนโลยีทั้งภายในและนอกประเทศไทยบนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร ซึ่งรวมทั้งดำเนินกิจการวิทยาลัยโรงเรียน และองค์กรวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันโดยการสอนศึกษาและวิจัยในวิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิชาอื่น ๆ แม้การที่จำเลยรับทำการวิจัยให้แก่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์การอื่นผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินให้จำเลยตามจำนวนที่จำเลยคำนวณเป็นงบประมาณในการทำการวิจัยก็ตาม แต่งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันจำเลย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ที่เหลือเป็นค่าจ้างอาจารย์ผู้ทำการวิจัย นักศึกษา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการวิจัยเช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าอุปกรณ์ในการวิจัย หากยังมีเงินเหลืออยู่อีกผู้ว่าจ้างก็สามารถรับคืนไปได้หรือจะบริจาคเข้ากองทุนวิจัยของจำเลย ซึ่งเป็นกองทุนที่จะนำเงินไปใช้เฉพาะที่เกี่ยวกับงานวิจัยของจำเลยเท่านั้น แสดงว่า นอกจากจำเลยจะมีวัตถุประสงค์กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่ามิได้มุ่งแสวงหากำไรแล้ว ยังปรากฏด้วยว่าการดำเนินกิจการของจำเลยก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยจึงเป็นสถาบันซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ในเรื่องค่าชดเชย ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม2541 ข้อ (3) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน