แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยชักมีดปลายแหลมยาวทั้งตัวด้ามประมาณ 1 ศอกออกมาแล้วพูดขึ้นว่า’มึงตายเสียเถอะ’จะถือเอาเป็นจริงจังตามคำพูดนั้นไม่ได้ ต้องดูพฤติการณ์อื่นที่เกิดขึ้นประกอบด้วยฉะนั้นแม้จำเลยจะใช้มีดแทง ส.และท. ก็ตามแต่จำเลยก็หาได้พยายามที่จะทำให้บุคคลทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีโอกาสจะกระทำได้ เพราะเมื่อคนทั้งสองล้มแล้ว จำเลยก็มิได้แทงซ้ำเติมแต่อย่างใดและลักษณะบาดแผลที่คนทั้งสองได้รับก็ไม่มีลักษณะฉกรรจ์พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวประกอบกับที่ต่อมาจำเลยได้ไล่แทง ฉ.แต่ฉ.หลบหนีไปได้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า คงเป็นเพียงทำร้ายร่างกาย ส.และท. และพยายามทำร้ายร่างกายฉ. เท่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธแทงทำร้ายนายทิวธรรมะนายสุชิต กลัดจินดา นายฉลวย ไกรถาวร คนละหลายครั้งโดยเจตนาฆ่าจำเลยแทงถูกนายทิวและนายสุชินที่บริเวณสะบักและสีข้างเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แต่จำเลยแทงไม่ถูกนายฉลวย เนื่องจากนายฉลวยวิ่งหลบหนีไปได้ทัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
จำเลยให้การว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 จำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และมาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 80 เป็นความผิดหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา 295 จำคุก 2 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยถูกนายฉลวยเตะจึงมีความโกรธ แล้วชักมีดปลายแหลมยาวทั้งด้ามประมาณ 1 ศอกออกมาพร้อมกับพูดว่า “มึงตายเสียเถอะ” และอาวุธมีดที่จำเลยใช้ถือว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงพอที่จะแทงทำร้ายให้ถึงตายได้แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า แต่นายสุชินและนายทิวหลบเลี่ยงได้จึงเพียงถูกจำเลยแทงเป็นบาดแผลไม่ฉกรรจ์ เห็นว่าการที่จำเลยพูดขึ้นว่า “มึตายเสียเถอะ” นั้นจำเลยอาจพูดออกมาด้วยอารมณ์โมโหที่ถูกนายฉลวยเตะ ประกอบกับจำเลยเมาสุราด้วยจึงจะถือเอาเป็นจริงจังตามคำพูดนั้นหาได้ไม่ จะต้องดูพฤติการณ์อื่นที่เกิดขึ้นประกอบด้วย จริงอยู่อาวุธมีดที่จำเลยแทงทำร้ายพวกผู้เสียหายอาจทำให้ถึงตายได้ แต่จำเลยก็หาได้พยายามที่จะแทงนายสุชินและนายทิวให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายทั้ง ๆ ที่จำเลยมีโอกาสจะกระทำได้ เพราะเมื่อคนทั้งสองล้มลงแล้ว จำเลยก็มิได้แทงซ้ำเติมอย่างใด และลักษณะบาดแผลที่คนทั้งสองได้รับก็ไม่มีลักษณะฉกรรจ์ซึ่งหากจำเลยมีเจตนาฆ่าก็อาจจะแทงคนทั้งสองให้เป็นบาดแผลฉกรรจ์ได้โดยง่าย อีกประการหนึ่งนายสุชินและน่ยทิวเข้ามาหาจำเลยในลักษณะเข้ามาห้าม มิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยอย่างใด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะมีเจตนาฆ่าคนทั้งสอง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายฉลวยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีเพียงคำพูดของจำเลยที่พูดขึ้นว่า”มึงตายเสียเถอะ” และต่อมาจำเลยได้ไล่แทงนายฉลวย แต่นายฉลวยหลบหนีไปได้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฆ่านายฉลายคงเป็นเพียงพยายามทำร้ายร่างกายนายฉลวยเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.