คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายมิได้ฟ้องแย้งในนามทายาทซึ่งเป็นบุตรโจทก์ ไม่เป็นอุทลุม
โจทก์รู้อยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมได้ห้ามไม่ให้โจทก์เกี่ยวข้องในทรัพย์มรดก แต่ในฐานะที่โจทก์เป็นภรรยาของผู้ตาย โจทก์เห็นว่าโจทก์ควรจะมีส่วนเป็นเจ้าของมรดกครึ่งหนึ่ง จึงได้ซ่อมแซมห้องพิพาทไปโดยสุจริตใจ เข้าใจว่ามีสิทธิทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมห้องพิพาทคืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภรรยานายเฮงกุ่ย แซ่ตั้งผู้ตายมาเป็นเวลา 42 ปีแล้ว โดยมิได้จดทะเบียนสมรส และมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและห้องแถวไม้ รวมราคา 60,000 บาท ภายหลังที่นายเฮงกุ่ยแซ่ตั้ง ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวปรากฏว่าห้องแถวไม้เลขที่ 64, 66, 68 และ 70 ชำรุดทรุดโทรมกำลังจะพังลงน้ำ โจทก์จำเป็นต้องซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว เป็นเงิน 32,000 บาท

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง โจทก์ให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินที่โจทก์กับนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันและให้จ่ายค่าซ่อมแซมห้องแถวให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 16,000 บาทจำเลยไม่ยอม ขอให้จำเลยจัดการแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยชดใช้ค่าซ่อมแซมห้องแถวแก่โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นภรรยาน้อยของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้งโจทก์ทิ้งร้างนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้งไป 11-15 ปีแล้ว ทรัพย์สินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ก่อนโจทก์มาเป็นภรรยาน้อย นายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวให้นายเซียงฮ้อ แซ่ตั้ง และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์มิได้ซ่อมแซมและดัดแปลงห้องแถวเลขที่ 64, 66, 68 และ 70 แต่อย่างใดเมื่อนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์เก็บค่าเช่าห้องแถวตลอดมา ไม่ยอมให้จำเลยเก็บ เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงิน 19,800 บาท และโจทก์ไม่ยอมส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 151 และแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 150 ของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ตามที่จำเลยขอ จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบค่าเช่า น.ส.3 และ ส.ค.1 ดังกล่าวให้จำเลย และห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินและห้องแถวของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ต่อไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทิ้งร้างไปจากนายเฮงกุ่ยแซ่ตั้ง โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและห้องแถวครึ่งหนึ่งโจทก์ไม่ทราบเรื่องนายเฮงกุ่ยทำพินัยกรรม หากทำจริงก็เป็นโมฆะโจทก์มีอำนาจโดยชอบที่จะรื้อถอนดัดแปลงและสร้างใหม่ และลงทุนไป 32,000 บาทเศษ โจทก์เก็บค่าเช่าได้เพียง 5,720 บาท จำเลยไม่มีอำนาจที่จะเรียก น.ส.3 จากโจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงค่าเช่าเพื่อหักหนี้ในการซ่อมแซมห้องแถวพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเฮงกุ่ยแซ่ตั้ง ใช้ค่าซ่อมแซมห้องพิพาทให้โจทก์เป็นเงิน 6,400 บาท ให้โจทก์มีสิทธิอาศัยในห้องพิพาทเลขที่ 69 สองคูหาส่วนที่ดินและห้องพิพาทนอกนั้นห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง ให้จำเลยรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์หมาย ล.11 ไปจัดการมรดกได้ ส่วนแบบแจ้งการครอบครองที่พิพาทไม่มีที่โจทก์ ให้เป็นหน้าที่จำเลยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อจัดการมรดกเอาเอง คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเพราะเป็นคดีอุทลุม ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกชดใช้ค่าซ่อมแซมห้องแถวพิพาทเลขที่ 64, 66 เป็นเงิน 3,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้นทุกประการ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยเป็นอุทลุมหรือไม่ นั้นเห็นว่า ถึงแม้นายเซี่ยงฮ้อผู้รับมรดกของนายเฮงกุ่ย แซ่ตั้ง ผู้ตายจะเป็นบุตรของโจทก์ก็ดี แต่จำเลยได้ฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฮงกุ่ยผู้ตายมิได้ฟ้องแย้งในนามของนายเซี่ยงฮ้อ คดีจึงไม่เป็นอุทลุม

จำเลยฎีกาว่า ค่าซ่อมแซมห้องพิพาทนั้น โจทก์ได้รู้อยู่ก่อนแล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมได้ห้ามไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในทรัพย์มรดก

ข้อเท็จจริงคงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า ภายหลังที่นายเฮงกุ่ยตายได้ราว 10 วัน โจทก์ไปขอรับมรดกที่อำเภอและเอาพินัยกรรมไปด้วย นายเจริญเจ้าหน้าที่อำเภอได้อ่านพินัยกรรมให้ฟังโจทก์ก็ไม่คัดค้าน และลงชื่อในบันทึกถ้อยคำไว้ด้วย เป็นหลักฐานที่ฟังได้ว่าโจทก์ได้ทราบแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับมรดกตามพินัยกรรม แต่ในฐานะที่โจทก์ก็เป็นภรรยาของนายเฮงกุ่ยผู้ตายโจทก์เห็นว่าโจทก์ควรจะมีส่วนเป็นเจ้าของมรดกครึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์เข้าใจเช่นนั้นโดยสุจริตใจ อีกประการหนึ่งผู้ที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้คือนายเซี่ยงฮ้อบุตรของโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงได้ทำการรื้อห้องแถว 2 ห้องสร้างใหม่เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นแม้ในพินัยกรรมจะมีข้อห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินตามพินัยกรรม โจทก์ก็ได้กระทำไปโดยเข้าใจว่ามีสิทธิทำได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในประเด็นเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีเสียใหม่ ถ้าจำเลยจะฎีกาขึ้นมาใหม่ ก็ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนในเรื่องค่าซ่อมแซมห้องพิพาทนั้น คงยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share