คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบโดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำเอกสารที่มีข้อความหมิ่นประมาทนายนิรันดร์ ให้นายสำราญอ่านโดยมีนายสวัสดิ์ร่วมฟังด้วย ในเอกสารดังกล่าวมีใจความว่านายนิรันดร์ได้เข้าหุ้นกับผู้มีชื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ถูกรางวัลที่ 1 นายนิรันดร์ไปรับเอาเงินรางวัลแต่ผู้เดียวคงแบ่งให้ผู้เข้าหุ้นด้วยเพียงห้าพันบาทแล้วหลบหนีไป ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความ ทำให้นายนิรันดร์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เจ้าพนักงานยึดเอกสารที่มีข้อความหมิ่นประมาท 2 ฉบับไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 332 และสั่งทำลายของกลาง

จำเลยให้การว่า ได้รับจดหมายซึ่งส่งมาจากผู้มีชื่อ มีข้อความตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องจริง ข้อความนั้นเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร จำเลยไม่ทราบ จำเลยอ่านจดหมายเองจะมีผู้ใดได้ยินหรือไม่ จำเลยไม่ทราบ จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทผู้เสียหาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ให้จำคุก 1 เดือน เอกสารของกลางให้ทำลายเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเพียงแต่ยื่นจดหมายที่มีผู้นำมาส่งให้จำเลย ให้นายสำราญเพราะนายสำราญถามว่าหนังสืออะไร ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในหนังสือนั้น และถือไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาใส่ความผู้เสียหาย การที่นายสำราญอ่านจดหมายนั้นดัง ๆ จนนายสวัสดิ์ได้ยิน ก็เป็นการกระทำของนายสำราญเอง คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความในจดหมายให้ปรากฏแก่บุคคลที่สาม จำเลยย่อมมีเจตนาที่จะให้บุคคลที่สามทราบเรื่องราวในจดหมายนั้น เมื่อจำเลยรู้อยู่ว่าจดหมายมีข้อความหมิ่นประมาททำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ก็นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหายด้วยถ้อยคำนั้นแล้ว ไม่ต่างอะไรกันกับจำเลยกล่าวถ้อยคำนั้นด้วยวาจา โดยเฉพาะคดีนี้ การที่จำเลยได้เอาจดหมายดังกล่าวให้นายสวัสดิ์อ่าน ก่อนที่นายสำราญจะมาถึงที่เกิดเหตุโดยนายสวัสดิ์ไม่ได้ร้องขอก็แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยได้แจ้งชัดว่าจำเลยต้องการให้บุคคลที่สามรู้เรื่องราวในจดหมายนั้นมาแต่แรกแล้ว การที่นายสำราญถามจำเลยว่าหนังสืออะไร ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความชอบธรรมที่จะเอาข้อความในจดหมายนั้นเปิดเผยแก่นายสำราญอันจะเป็นข้อแก้ตัวให้จำเลยพ้นผิดไปได้ เมื่อนายสำราญเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้นชอบแล้ว แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยหนักไป

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่การวางกำหนดโทษ คงให้ลงโทษปรับจำเลยหนึ่งพันบาท

Share