คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฎีกาของโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายถาดกับนางทา กาญจนพิมายซึ่งได้แต่งงานและอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยตลอดและมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 2581 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2528 นางทาได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายจรัสเด็กชายรณชัย เด็กชายชาตรี และเด็กหญิงจิตรา กาญจนพิมาย รวม 4 คนคนละเท่า ๆ กัน และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 นางทา ได้ถึงแก่กรรม การทำพินัยกรรมดังกล่าว นางทา เพียงผู้เดียวไม่มีอำนาจยกที่ดินซึ่งบิดาโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยให้บุคคลอื่นได้ พินัยกรรมและข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับตามฟ้องตกเป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรของนายถาดกับนางทากาญจนพิมายที่ดินตามฟ้องเป็นของนางทาแต่เพียงผู้เดียว นางทามีสิทธิทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวได้ พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่นายถาดและนางทาทำมาหาได้ร่วมกัน การที่นางทาทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามฟ้องทั้งแปลงให้แก่บุคคลตามที่ระบุชื่อไว้โดยโจทก์ไม่ทราบหรือยินยอม ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกที่ดินให้บุคคลอื่น คงใช้บังคับได้เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิของนางทาเท่านั้น จะใช้บังคับถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิส่วนของนายถาดซึ่งเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ไม่ได้ แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่ดินให้บุคคลอื่นดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะไม่ หากโจทก์จะได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับทรัพย์มรดกของนายถาดส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะฟ้องร้องเอากับผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ต่อไปโจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิเคราะห์ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิของนางทา หาใช่บังคับถึงกรรมสิทธิ์ของนายถาดไม่ เท่ากับโจทก์และทายาทคนอื่นไม่ได้รับมรดกในส่วนของนายถาดบิดาโจทก์เสมือนหนึ่งโจทก์และทายาทที่ไม่ได้รับมรดกไม่ได้เป็นบุตรของนายถาดกับนางทาดังนี้ เห็นได้ว่า โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ฎีกาโจทก์จึงไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นางทาถูกข่มขู่ให้ทำพินัยกรรมหรืออาจมีเหตุฉ้อฉลหลอกลวงให้นางทาทำพินัยกรรมนั้น โจทก์มิได้ฟ้องตั้งประเด็นมาเช่นนั้น ฎีกาโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share