คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องที่บรรยายว่า จำเลยนำสุราแม่โขงซึ่งทำตราชื่อรูปรอยประดิษฐ์ ของผู้มีชื่อปลอมปิดที่ขวดสุราแม่โขงออกจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสุราแม่โขงของผู้มีชื่อนั้น มีข้อความเข้าใจได้แล้วว่าเท่ากับบรรยายว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์นั้นเป็นตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ปลอมไม่ขาดองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275,272
เอาตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ของผู้มีชื่อซึ่งปลอมปิดลงไปบนสินค้า(ที่แท้จริง) เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มาจากร้านค้าของผู้เป็นเจ้าของตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ แม้เจ้าของตราชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ จะไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้านั้น เพียงแต่เป็นผู้รับมาจำหน่าย ผู้เอาตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ปลอมมาใช้ดังกล่าวก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำสุราแม่โขงซึ่งทำตราชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ ปิดบนกระดาษแก้วสำหรับห่อขวดสุราแม่โขงปลอม และมีข้อความที่กระดาษห่อแบบเดียวกันกับรอยตราบนกระดาษแก้ห่อขวดสุราแม่โขงของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลา และเป็นตราเครื่องหมายการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลา แล้วจำเลยได้นำสุราแม่โขงซึ่งปิดตราชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ปลอมดังกล่าวออกจำหน่ายเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า เป็นสุราแม่โขงของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275, 272(1)

จำเลยรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, 275 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ครบบริบูรณ์และเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อนั้นย่อมเข้าใจกันว่า มีความมุ่งหมายหรือมีเจตนาให้เขาหลงเชื่อได้ การที่จะมีความมุ่งหมายหรือมีเจตนาให้เขาหลงเชื่อได้ก็จะต้องรู้อยู่ว่าเครื่องหมายนั้นปลอม หากไม่รู้ว่าเครื่องหมายนั้นปลอมแล้ว ก็ไม่อาจมีเจตนาให้เขาหลงเชื่อได้ ฉะนั้นคำบรรยายฟ้องของโจทก์มีข้อความเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยรู้ว่าเครื่องหมายรูป รอยประดิษฐ์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้น เป็นเครื่องหมาย รูปรอยประดิษฐ์ปลอม ฟ้องโจทก์ไม่ขาดองค์ความผิดในข้อกระทำโดยเจตนา

คดีนี้ จำเลยเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ในการประกอบการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลามาทำปลอมขึ้น เพื่อปิดที่กระดาษแก้วหุ้มขวดสุราแม่โขง แม้สุราแม่โขงรายนี้จะเป็นสุราแม่โขงที่แท้จริง ไม่มีการปลอมปน แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีสุราอื่นซึ่งบรรจุขวดเหมือนสุราแม่โขงไปหลอกลวงขาย ฉะนั้น ถ้าสุราแม่โขงที่มีชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของร้านค้าในท้องถิ่นที่ประชาชนเชื่อถือ ก็ย่อมจะขายดีกว่าสุราแม่โขงที่ไม่มีชื่อหรือเครื่องหมายของร้านค้าในท้องถิ่นนั้น และคำว่า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) นั้น ก็มีความหมายว่า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มาจากร้านค้าของผู้เป็นเจ้าของชื่อหรือเครื่องหมายการค้าไม่ใช่มีความหมายว่า จะต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าสินค้านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของชื่อหรือเครื่องหมายการค้า คดีนี้ เมื่อจำเลยให้การรับตามฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายหรือวางเสนอขายเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสุราแม่โขงของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลาจำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1) พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275, 272(1) ปรับ500 บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 250 บาท

Share