แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กิจการจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ เป็นกิจการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็น “รัฐวิสาหกิจ” และเป็น “หน่วยงานเจ้าของโครงการ” มีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 (3) เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเข้าลักษณะเป็น “กิจการของรัฐ” และเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็น “โครงการ” ในกิจการของรัฐตามนัยของบทนิยามความหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และตามข้อตกลงในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติก็มีข้อตกลงในสาระสำคัญว่าผู้คัดค้านได้มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิที่จะดำเนินกิจการแทนผู้คัดค้านในการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งเข้าบทนิยามความหมายของคำว่า “ร่วมงานหรือดำเนินการ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาคือผู้ร้องและผู้คัดค้านจะต้องกระทำภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เมื่อการทำสัญญาฉบับนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งขั้นตอนการเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 มาตรา 6 ถึงมาตรา 11 ตลอดจนขั้นตอนในส่วนของวิธีการดำเนินโครงการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตามความในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12 ถึงมาตรา 21 สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญา และย่อมส่งผลทำให้สัญญาข้อ 26 ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการให้จึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เป็นบทกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้การลงทุนในกิจการของรัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงไม่ตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และมาตรา 45 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลยกคำร้องและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 63/2543 ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้อง จำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ จำนวน 200,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า กิจการจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ ตามข้อตกลงในสัญญาเป็นกิจการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็น “รัฐวิสาหกิจ” และเป็น “หน่วยงานเจ้าของโครงการ” มีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 5 (3) เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเข้าลักษณะเป็น “กิจการของรัฐ” และเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็น”โครงการ” ในกิจการของรัฐตามนัยของบทนิยามความหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทุกถ้อยคำ และตามข้อตกลงในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติก็มีข้อตกลงในสาระสำคัญว่าผู้คัดค้านได้มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิที่จะดำเนินกิจการแทนผู้คัดค้านในการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งเข้าบทนิยามความหมายของคำว่า “ร่วมงานหรือดำเนินการ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ด้วย ดังนั้น สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาคือผู้ร้องและผู้คัดค้านจะต้องกระทำภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เมื่อข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่าการทำสัญญาฉบับนี้ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งขั้นตอนการเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 มาตรา 6 ถึงมาตรา 11 ตลอดจนขั้นตอนในส่วนของวิธีการดำเนินโครงการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตามความในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12 ถึงมาตรา 21 ด้วย สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญาและย่อมส่งผลพลอยทำให้สัญญาข้อ 26 ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 63/2543 ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องจำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 และศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เป็นบทกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้การลงทุนในกิจการของรัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงไม่ตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 (2) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 และมาตรา 45 (2) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ