คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8552/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจุดชนเกิดในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีการับว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ทำให้รับฟังเป็นยุติว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ดังนี้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตน ก็จะต้องไม่มีเหตุคดีนี้เกิดขึ้น ดังนี้จึงจะนำข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกตามฟ้องมาเป็นเหตุลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 หาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น การที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 78 วรรคหนึ่ง), 157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส กับฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือนรวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุ มีผู้ได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว สำหรับโทษจำคุกฐานหลบหนีไม่ช่วยเหลือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เปลี่ยนเป็นกักขังแทนมีกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องคือ จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกกระบะหมายเลขทะเบียน บร 4609 ขอนแก่น แล่นไปตามถนนสายคอนสาร – ห้วยยาง ซึ่งเป็นถนนสองช่องทางจราจร รถวิ่งสวนกันไปมาได้ โดยจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุราแล่นในช่องเดินรถด้านซ้ายจากทางตำบลห้วยยางมุ่งหน้าไปทางอำเภอคอนสาร และเมื่อถึงทางแยกตัดกับถนนระหว่างหมู่บ้าน จำเลยที่ 1 ยังคงขับรถผ่านทางแยกดังกล่าวด้วยความเร็วสูงจึงเกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขยง ขอนแก่น 929 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับออกมาจากถนนสายไปบ้านนาบัวซึ่งตัดกับถนนสายคอนสาร – ห้วยยาง โดยเมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปถึงทางแยกดังกล่าว จำเลยที่ 2ได้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายคอนสาร – ห้วยยาง มุ่งหน้าไปทางตำบลห้วยยาง โดยไม่หยุดรถและไม่ตรวจดูว่ามีรถคันอื่นแล่นอยู่บนถนนสายคอนสาร – ห้วยยาง กำลังจะแล่นผ่านทางแยกนั้นหรือไม่ จึงเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจุดชนเกิดในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น ในชั้นฎีกาโจทก์ยังบรรยายฎีการับว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเสริมข้อเท็จจริงในคำบรรยายฟ้องให้รับฟังเป็นยุติว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับเลี้ยวซ้ายออกมาจากถนนสายไปบ้านนาบัวด้านขวาของจำเลยที่ 1 เข้าสู่ถนนสายคอนสาร – ห้วยยาง แต่มุ่งหน้าไปทางตำบลห้วยยาง ทิศทางตรงกันข้ามกับรถบรรทุกกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ เมื่อข้อเท็จจริงมีเพียงเท่านี้ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตน ก็จะต้องไม่มีเหตุคดีนี้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงจะนำข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกตามฟ้อง มาเป็นเหตุลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 หาได้ไม่ เพราะจากข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น การที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูง ย่อมเป็นความผิดฐานขับรถด้วยความประมาทหรือน่าหวาดเสียวตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) ซึ่งโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วย จำเลยที่ 1 จึงยังมีความผิดฐานนี้ตามที่ให้การรับสารภาพ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในความผิดทั้งสองฐานทั้งหมด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 800 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 400 บาท เมื่อรวมกับโทษกักขัง 1 เดือน ฐานหลบหนีไม่ช่วยเหลือ ไม่แสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงลงโทษจำเลยที่ 1 กักขัง 1 เดือน และปรับ 400 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยหากต้องกักขังแทนค่าปรับก็ให้นับโทษต่อจากโทษกักขัง 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share