แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่ยอมออกไปจากโรงเรือนของโจทก์และปลูกโรงเรือนในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดต่อโจทก์แม้จะปรากฏว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องรวมกับบุคคลอื่นแต่ไม่ระบุในฟ้องจำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดี จึงได้ให้การว่าโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์ถือกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ในที่ดินพิพาท จำเลยย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1571 การที่จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของบุตรถือได้ว่าเป็นการจัดการทรัพย์สินของบุตรทั้งยังได้ปลูกในส่วนที่เป็นของบุตรจึงไม่เป็นการขัดต่อสิทธิแห่งโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนออกไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ได้มอบให้จำเลยดูแลแทนและอาศัยอยู่ในบ้านของโจทก์ ต่อมาจำเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 98/2 ลงในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไป ได้บอกกล่าวแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 98/2 ออกไป และชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยกับบุตรไม่ใช่ของโจทก์ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เดิมที่ดินและบ้านเป็นของนางพร้อม เมื่อนางพร้อมตาย จำเลยได้ครอบครองต่อมา และได้ขอออกโฉนดเป็นชื่อโจทก์กับบุตรของจำเลยและผู้มีชื่ออีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อมาโจทก์ได้ยกที่พิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ให้จำเลยตามเจตนาของนางพร้อมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนเลขที่ 98/2 ออกไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทรวมกับเด็กชายสาโรจบุตรจำเลย แต่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าที่ส่วนไหนเป็นของโจทก์ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยไม่ยอมออกไปจากโรงเรือนของโจทก์ และยังปลูกโรงเรือนในที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหายโดยอ้างว่าที่ดินและโรงเรือนเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ได้มอบหมายให้จำเลยดูแลและเข้าอยู่อาศัย มีคำขอบังคับขับไล่และเรียกค่าเสียหาย เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้จะปรากฏว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องรวมกับบุคคลอื่นแต่ไม่ระบุในฟ้อง จำเลยก็เข้าใจข้อหา จึงได้ให้การว่าโฉนดที่ดินที่พิพาทมีชื่อเด็กหญิงเกษิณี วัชรมุสิก เด็กชายสาโรจ วรินทรเวช บุตรจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ขอบังคับจำเลยให้รื้อถอนโรงเรือนเลขที่ ว.98/2 ออกไปจากที่พิพาทได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันแต่ออกโฉนดที่ดินแบ่งเป็น 3 แปลง มีเด็กหญิงเกษิณี เด็กชายสาโรจ ถือกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ทุกแปลงโดยไม่ได้ระบุส่วนของที่ดิน เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 บัญญัติว่า เจ้าของคนหนึ่งมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้นได้โดยไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ดังนั้นเด็กชายสาโรจ เจ้าของรวมจึงมีสิทธิใช้ที่พิพาทได้ โจทก์เบิกความว่าจำเลยได้ปลูกโรงเรือนเลขที่ ว.98/2 ที่โจทก์ขอให้รื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2520 ปรากฏจากสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ ว.98 ว่านายสาโรจหรือเด็กชายสาโรจ เกิด พ.ศ. 2502 ขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์จึงอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย จำเลยย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1571 บัญญัติไว้ การปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของบุตร ถือได้ว่าเป็นการจัดการทรัพย์สินของบุตรส่วนหนึ่งได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนทางทิศตะวันออกของที่พิพาทอันเป็นที่ดินทางทิศเดียวกับที่โจทก์อ้างว่านางพร้อมยกให้บุตรจำเลย ดังนั้นการที่จำเลยใช้ที่พิพาทของบุตรปลูกสร้างโรงเรือน จึงไม่เป็นการขัดต่อสิทธิแห่งโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับจำเลยให้รื้อถอนออกไปได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอบังคับจำเลยให้รื้อถอนโรงเรือนเลขที่ ว.98/2 ออกไปจากที่พิพาทเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์