แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 นอกจากจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าอัตราไว้ในมาตรา 5 และมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนในมาตรา 16 แล้ว ยังมีบทมาตราอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้เช่านาอีกหลายกรณี
การที่จำเลยเต็มใจให้ค่าเช่านาเกินกว่าอัตราที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 กำหนดไว้ และโจทก์ผู้ให้เช่าก็ตกลงยอมรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้จำเลยผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระ จึงไม่เป็นการผูกพันจำเลยตามนัย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493ที่จะต้องชำระค่าเช่านาให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่านาจากโจทก์ 24 ไร่ ตกลงคิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกปีละ 350 ถัง กำหนดค่าเช่า 1 ปี ครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก 350 ถัง หรือเป็นเงิน คิดราคาข้าวเปลือกถังละ 15 บาท เป็นเงิน 5,250 บาท จำเลยก็เพิกเฉยขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก 350 ถัง หากไม่สามารถชำระเป็นข้าวเปลือกได้ก็ให้ชำระเป็นเงิน 5,250 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่านาจากโจทก์ แต่ได้มอบนาที่เช่าให้ผู้อื่นทำนาที่เช่าเป็นนาดอน ทำนาไม่ได้ผล ปี พ.ศ. 2515 ฝนแล้ง ได้ข้าวเปลือกเพียง 550 ถัง เฉลี่ยแล้วได้ไร่ละประมาณ 22 ถัง ปกตินาของโจทก์จะได้ข้าวเปลือกไร่ละประมาณ 20 – 25 ถังต่อปี การเช่านารายนี้อยู่ใต้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ตามพระราชบัญญัตินี้โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่านาเป็นข้าวเปลือกได้เพียงไร่ละ 3 ถังต่อปีนา 24 ไร่คิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกได้ 72 ถังต่อปีเท่านั้น โจทก์เรียกค่าเช่าปีละ 350 ถัง เป็นการเรียกเกิน ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต้นปี 2516 ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 1,220 บาท จำเลยให้นางอิ่มแย้มสมบูรณ์ ขายข้าวเปลือก 250 ถัง ได้เงิน 3,050 บาท นางอิ่มชำระเงินจำนวนนี้แทนจำเลยให้โจทก์รับไปทั้งหมดเป็นค่าเช่านาแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังเก็บค่าเช่าจากที่ผู้ทำนาแทนจำเลยไปอีกเป็นข้าวเปลือก 35 ถังคิดแล้วโจทก์ได้รับค่าเช่านาเกินกว่าสิทธิที่ตนจะได้รับตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าเช่านาอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ซึ่งบัญญัติให้เรียกเก็บค่าเช่านาที่มีผล ทำนาได้ข้าวเปลือกโดยปกติในปีหนึ่งไร่ละสี่สิบถังขึ้นไปได้ไม่เกินไร่ละสิบถังหรือถ้าจะเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเงินก็เรียกเก็บได้ไม่เกินราคาของข้าวตามที่มีอยู่ในท้องที่ขณะที่ต้องชำระค่าเช่า สัญญาเช่านาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์เรียกเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่านาจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เรียกค่าเช่าเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 5(1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า พ.ศ. 2493 และมาตรา 16 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มีความผิดต้องระวางโทษปรับสัญญาเช่าจึงตกเป็นโมฆะข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านาที่จำเลยเช่า จำเลยทำนาปีละ 2 ครั้งสัญญาเช่าเป็นโมฆะทั้งหมด จะแยกเป็นโมฆะเฉพาะค่าเช่าส่วนที่เกินหาได้ไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493นอกจากจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าอัตราไว้ในมาตรา 5 และมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนในมาตรา 16 แล้ว ยังมีบทมาตราอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้เช่านาอีกหลายกรณี เช่น มาตรา 6 ห้ามมิให้เรียกเก็บมัดจำหรือเก็บค่าเช่านาล่วงหน้า จะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเสร็จการทำนา มาตรา 7 ถ้าในปีใดการทำนาไม่ได้ผลสมบูรณ์โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้เช่า ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าเช่าและโดยเฉพาะในมาตรา 8 ที่ว่า “การตกลงใด ๆ ดังต่อไปนี้ไม่เป็นการผูกพันคู่กรณีในการเช่านา (2) การให้ผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระใด ๆซึ่งตามกฎหมายผู้เช่าไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระนั้น ๆ” ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่จำเลยคดีนี้เต็มใจให้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าเป็นข้าวเปลือก 350 ถังต่อปี และโจทก์ผู้ให้เช่าก็ตกลงยอมรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้จำเลยผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระจึงไม่เป็นการผูกพันจำเลยตามนัยแห่งมาตรา 8 ที่จะต้องชำระค่าเช่านาให้โจทก์ตามฟ้อง และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเช่ายังค้างชำระหรือไม่
พิพากษายืน