คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านจำเลยร่วม ต่อมาความปรากฏว่ารถคันนั้นเป็นของ ค. ที่หายไป ตำรวจจับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการร้านจำเลยร่วมเป็นผู้ต้องหาฐานรับของโจรและยึดรถคันดังกล่าวไว้ ดังนี้แม้โจทก์จะได้รถจักรยานยนต์จากการซื้อขายในท้องตลาดและมีสิทธิที่จะติดตามเอารถคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏชัดแจ้งแล้วว่ารถเป็นของ ค. ที่หายไป ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงและพนักงานสอบสวนคดีที่จำเลยต้องหาว่ารับของโจรนั้นก็ว่าถึงโจทก์จะไปขอรับรถจักรยานยนต์นั้นคืนก็ไม่คืนให้จำเลยในฐานะผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะทรัพย์สินที่ซื้อขายหลุดไปจากโจทก์ เพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิตามมาตรา 479และแม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอารถคืนหรือขอให้ชดใช้ราคาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถโดยตรงตามมาตรา 1372 ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยในเหตุรอนสิทธิไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้
ความรับผิดในการรอนสิทธิของจำเลยมีมูลมาจากสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์และต้องว่าจ้างรถคนอื่นไปใช้งาน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิให้จำเลยใช้ราคารถและค่าเสียหายนั้นได้
การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนั้น ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ การที่ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ด้วยอำนาจของกฎหมายซึ่งโจทก์จำต้องยอมให้ยึด มิฉะนั้นโจทก์อาจจะต้องมีความผิดในทางอาญานั้น ความรับผิดของจำเลยผู้ขายไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 165ซึ่งมีอายุความ 10 ปี (วรรคสามวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งร้านค้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์อยู่ในตลาดเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ใช้ชื่อร้านค้า “ไทยฮวด” เมื่อปี พ.ศ. 2510 โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าชนิด 175 ซี.ซี. จากร้านค้าของจำเลย 1 คันราคา 9,000 บาท เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2512 ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์อ้างว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารเจ้าของแท้จริงจึงเอาคืนไป โจทก์ซื้อรถจากจำเลยในท้องตลาดโดยสุจริต เป็นความผิดและความบกพร่องของจำเลยที่ขโมยรถของผู้อื่นมาขาย โจทก์มีรถแทร็กเตอร์รับจ้างเกรดดินและมีรถยนต์รับจ้างบรรทุกสินค้านับแต่รถถูกตำรวจยึด โจทก์ต้องว่าจ้างรถผู้อื่นไปติดต่องานเสียค่าจ้างเดือนละ 500 บาท เป็นเวลาประมาณ 8 เดือน เป็นเงิน 4,000 บาท ขอให้จำเลยคืนเงินราคารถจักรยานยนต์ 9,000 บาทและค่าเสียหาย 4,000 บาทให้โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า ไม่ได้ตั้งร้านค้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใช้ชื่อว่าร้านไทยฮวด แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้ซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากจำเลย โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้รถมาในทางการค้าขายในท้องตลาดโดยสุจริต และโจทก์ซื้อไปจากผู้ขายในท้องตลาดโดยสุจริต จึงได้กรรมสิทธิ์โดยชอบ ไม่จำต้องมอบรถคันดังกล่าวให้แก่ผู้ใดโดยยังไม่ได้รับชำระราคา ตำรวจยึดรถไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง หากจะมีก็เป็นการที่โจทก์ยอมให้ยึดไป จึงเป็นความผิดของโจทก์เอง ไม่ใช่เรื่องการรอนสิทธิ โจทก์ไม่มีธุรกิจที่จะใช้รถจักรยานยนต์ติดต่อการงาน และไม่ได้จ้างรถจักรยานยนต์เดือนละ 500 บาท จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์มอบรถจักรยานยนต์ให้แก่บุคคลอื่นไป คดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยฮวดพานิช โดยนายเจ็งเกียจิ๋ว แซ่เจ็ง ผู้จัดการเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากท้องตลาดโดยสุจริต จำเลยร่วมได้มาในทางการค้าโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ควรไปเรียกร้องเอากับผู้ที่เอารถไปจากโจทก์ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด จำเลยร่วมไม่ทราบและไม่รับรองว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ หากจะเป็นความจริงก็เพราะโจทก์ยอมให้ยึดไป เป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์ไม่ได้เสียหายดังฟ้อง โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์มอบรถจักรยานยนต์ให้บุคคลอื่น คดีขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยในเหตุรอนสิทธิได้ โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคารถจักรยานยนต์และค่าเสียหายได้ สำหรับค่าเสียหายเรียกได้เดือนละ 50 บาท ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ต้องใช้อายุความตามมาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปีบังคับ พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ราคารถจักรยานยนต์กับค่าไม่ได้ใช้รถ รวมเป็นเงิน 9,400 บาท และค่าไม่ได้ใช้รถเดือนละ 50 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ราคารถจักรยานยนต์ 9,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ซื้อจากร้านจำเลยร่วมนั้นเป็นของบริษัทคาวาซากิที่หายไป และตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไว้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า

1. จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะการรอนสิทธิหรือไม่

2. โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคารถจักรยานยนต์และค่าเสียหายหรือไม่

3. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ปัญหาข้อ 1 เห็นว่า แม้โจทก์จะได้รถจักรยานยนต์จากการซื้อขายในท้องตลาดและมีสิทธิที่จะติดตามเอารถคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏว่าเป็นรถของ ค. ที่หายไป ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง และพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยต้องหาว่ารับของโจรก็ว่า ถึงโจทก์จะมาขอรับรถจักรยานยนต์คืนก็ไม่คืนให้ จำเลยในฐานะผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะทรัพย์สินที่ซื้อขายหลุดไปจากโจทก์เพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิตามมาตรา 479 และแม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอารถคืนหรือขอให้ชดใช้ราคาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถโดยตรงตามมาตรา 1332 ก็มิได้หมายความว่า โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยในเหตุรอนสิทธิไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้

ปัญหาข้อที่ 2 ความรับผิดในการรอนสิทธิของจำเลยมีมูลมาจากสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์และต้องว่าจ้างรถคนอื่นไปใช้งาน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิให้จำเลยใช้ราคารถและค่าเสียหายนั้นได้

ปัญหาข้อที่ 3 การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ การที่ตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ด้วยอำนาจของกฎหมายซึ่งโจทก์จำต้องยอมให้ยึด มิฉะนั้นโจทก์อาจจะต้องมีความผิดในทางอาญานั้น ความรับผิดของจำเลยผู้ขายไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 164 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share